จากกรณี คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการ หลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ โดยเป็นการร่นระยะเวลาการดำเนินงานจากกว่าร้อยวัน เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อยู่อาศัยในไทยมานาน รอการพิจารณากำหนดสถานะอยู่จำนวน 483,626 คน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก นายธง บุญนำ อาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.หวัดราชบุรี ซึ่งเป็นบุคคลผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการพิจารณาให้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เรื่องหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานและบุตรที่เกิดในไทย ตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

โดยนายธง กล่าวว่า ตนเป็นบุคคลที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นการสำรวจบุคคลตามยุทธศาสตร์ (กลุ่มชาติพันธุ์ตกสำรวจ) หมายเลข 0--89 ว่าตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่ทางรัฐบาลมีมติเห็นชอบในการพิจารณาให้สัญชาติไทย ตนรอด้วยความหวังมากว่า 20 ปี ที่จะได้มีสัญชาติไทย จะได้เป็นบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนเสียที ซึ่งตนสามารถอ่าน เขียน ภาษาไทยได้ ทั้งมีความจงรักภักดีและเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตนมองว่าหากตนได้สัญชาติไทย จะสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้นเป็นอย่างมาก หรือจะบอกได้ว่า สามารถเปลี่ยนชีวิตของตนได้เลย ตนจะได้เป็นคนไทยอย่างเต็มตัว การได้สัญชาติไทยของตน จะสามารถเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเดินทางไปไหนมาไหน ได้อย่างสะดวกขึ้น ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานมากขึ้น เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล ตนต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

ด้าน นายมานะ งามเนตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสัญชาติ กล่าวว่า จากมติ ครม. ดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้คือ แบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรของบุคคลต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้สัญชาติไทย โดยมีประเด็นที่น่ากังวล ได้แก่ การสื่อสารที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด เช่น การแถลงข่าวว่า “ให้สัญชาติไทยแก่บุตรคนต่างด้าว 483,000 คน” ความไม่เข้าใจในพัฒนาการของนโยบายที่มีมาตั้งแต่ปี 2535 และการขาดความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

นายมานะ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากฝากข้อเสนอแนะว่ากระทรวงมหาดไทย ต้องมีการจัดทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยที่รัดกุม ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองตนเองที่ชัดเจน ควรมีมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการออกเอกสารรับรอง อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องเร่งจัดการกับปัญหาเฉพาะที่ต้องเร่งแก้ไข กรณีผู้ที่ไม่มีสูติบัตรต้องขอ ท.ร.20/1 การจัดการกับกรณีบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร การป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ในกระบวนการออกเอกสาร ทั้งอยากมีข้อเสนอแนะเชิงระบบต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ควรใช้หลัก “อำนาจผูกพัน” แทน “อำนาจดุลพินิจ” ต้องมีการสร้างองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ควรมีการทำความเข้าใจกับสาธารณชนเพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งคงต้องรอให้ทางกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการปกครอง ที่จะมีการออกประกาศตามมาว่า เนื้อหา ระเบียบต่างๆ ในการพิจารณาให้สัญชาติไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง.