เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม พื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ล่าสุด สภาวะฝนได้ตกทิ้งช่วงตั้งแต่ในช่วงคืนที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำโก-ลก ที่เอ่อล้นตลิ่งในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ มีปริมาณน้ำท่วมขังลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากการติดตามมวลน้ำป่าที่ไหลระบายจากพื้นที่ อ.สุคิรินและแว้ง ลงสู่แม่น้ำโก-ลก เพื่อระบายลงสู่ทะเลปากอ่าวด้าน อ.ตากใบ พบว่า มวลน้ำป่าก้อนนี้ได้ไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านโคกกลาง หมู่ 2 และบ้านปาดังยอ หมู่ 3 ต.มูโนะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านลุ่มต่ำริมตลิ่ง ทำให้มวลน้ำป่าก้อนนี้ได้ไหลทะลักเข้าท่วมทั้ง 2 หมู่บ้าน โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 1 เมตร ถึง 1.80 เมตร ซึ่งมีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายและหญิงชรา รวมทั้งเด็กเล็กและผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ตกค้างอาศัยอยู่กว่า 100 คน ได้รับความเดือดร้อนต้องเร่งอพยพออกจากพื้นที่เป็นการเร่งด่วน
นายอนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงโก-ลก ร.ท.กลวัชร ตาวงศ์ ผบ.ร้อยปืนเล็กที่ 4 ชุดเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ 33 และนายวิชิตชาติ อุดมลาภเจริญกิจ หัวหน้ามูลนิธิเซิ้งหมู่ธารน้ำใจสุไหงโก-ลก พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 60 ชีวิต ได้นำเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ และเรือพาย ฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากตั้งแต่ช่วงเช้ายันดึก ตระเวนขนย้ายชาวบ้านแต่ละครัวเรือน ด้วยความยากลำบากที่ต้องฝ่ากระแสน้ำ ท่วมขังด้วยความระมัดระวัง ที่แต่ละเที่ยวสามารถนำผู้ประสบภัยออกมาได้เที่ยวละกว่า 10 คน และแต่ละเที่ยวใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง เพื่อนำไปอาศัยอยู่ชั่วคราวที่ศูนย์อพยพภายในโรงเรียนดารุลฟุรกอน และโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะลือซง
จากสภาวะน้ำท่วมขังในครั้งนี้ แม้ว่าโดยภาพรวมจะมีปริมาณน้ำท่วมขังลดลงตามลำดับ แต่การสัญจรไปมายังเป็นอุปสรรคต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากยังมีน้ำท่วมขังถนนสายหลัก 6 สาย ที่ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยมีปริมาณน้ำท่วมขังโดยเฉลี่ยสูง 60 ถึง 100 ซม. ประกอบด้วย 1. ถนนสายบ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่หลักกิโลเมตรที่ 5, 2. ถนนสายบ้านมะนังตายอ อ.ยี่งอ, เมือง จ.นราธิวาส หลักกิโลเมตรที่ 5 ถึง 7, 3. ถนนสายบ้านบริจ๊ะ อ.ศรีสาคร, รือเสาะ จ.นราธิวาส 4. ถนนแยกทางหลวงภายในศูนย์ราชการ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส 5. ถนนแยกทางหลวงบ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และ 6. ถนนแยกทางหลวงบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึง 7
ล่าสุดจังหวัดนราธิวาส สรุปผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ จำนวน 13 อำเภอ 77 ตำบล 591 หมู่บ้าน 74 ชุมชน 1 ซอย 98,051 ครัวเรือน 358,602 คน มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นางเจ๊ะแย ตาเยะ อายุ 75 ปี ชาวบ้านเสียชีวิต 2 ราย คือ 1.เด็กหญิงซาฟีรา ชารานา อายุ 12 ขวบ และ 2.นายริน แดงนำ อายุ 82 ปี บ้านถูกกระสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากเสียหายทั้งหลัง จำนวน 2 หลัง เสียหายบางส่วน 17 หลัง มัสยิดถูกน้ำท่วมขัง 60 แห่ง วัดถูกน้ำท่วมขัง 35 แห่ง โรงเรียนมีน้ำท่วมขัง 250 แห่ง สถานที่ราชการน้ำท่วมขัง 18 แห่ง ถนนถูกน้ำท่วมขัง 148 สาย คอสะพานถูกน้ำไหลเชี่ยวกรากพัดเสียหาย 7 แห่ง ดินสไลด์ทับเส้นทาง 17 สาย เสาไฟฟ้าล้มทับเส้นทาง 12 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรน้ำท่วมขัง 4,843 ไร่
อย่างไรก็ตาม หากสภาวะฝนไม่ตกลงมาอย่างซ้ำหนักในอีกระลอก จะส่งผลทำให้พื้นที่น้ำท่วมขังลดลงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และประชาชนจะได้รับผลกระทบเพียงในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งของแม่น้ำสายหลัก 3 สาย และต้องใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ สภาวะน้ำท่วมขังจะกลับคืนมาสู่สภาวะปกติ
จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ล่าสุด ตั้งแต่วานนี้ 30 พ.ย. จนถึงช่วงเช้าวันนี้ (1 ธ.ค.) หลังฝนหยุดตกหนัก ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ ได้ลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติบางพื้นที่ พื้นที่น้ำท่วมหนักสุดในพื้นที่ ต.ท่าสาป ต.หน้าถ้ำ และ ต.ยุโป หลังน้ำเริ่มลด รถยนต์ของประชาชนที่หนีน้ำไม่ทัน นับ 100 คัน จอดจดน้ำท่วม ล้มพลิกด้วยความแรงของกระแสน้ำ นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งหนักสุดที่เคยเกิดขึ้นมา ในรอบกว่า 30 ปี ขณะที่ในเขตเทศบาลนครยะลา ย่านตลาดเก่ายะลา มีเฉพาะตามซอยที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำยังมีน้ำท่วมขัง
รวมทั้งตลาดเมืองใหม่บางจุดน้ำลดลง บางจุดน้ำยังท่วมสูง ส่วนพื้นที่ชุมชนบ้านร่ม ชุมชนสะเตง ชุมชนสาย 15 และชุมชนอื่นๆ บางพื้นที่น้ำลดจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว บางจุดยังมีน้ำท่วมขัง ชาวบ้านต่างเร่งฟื้นฟู ทำความสะอาดบ้านของตัวเอง หลังโดนน้ำท่วมขังนานถึง 4 วันแต่ยังไม่ยกสิ่งของจากที่สูง เฝ้าระวังฝนรอบใหม่ ในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งมีประชาชนใน ต.สะเตง ได้รับผลกระทบ จำนวนถึง 33 ชุมชน 2,760 ครัวเรือน 11,040 คน
ขณะที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลาได้รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ หลังจากได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ทำให้บ้านเรือน ทรัพย์สินของประชาชน สถานศึกษา พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย จำนวน 8 อำเภอ 58 ตำบล 358 หมู่บ้าน 45 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,168 ครัวเรือน 181,797 คน เสียชีวิต 2 ราย อพยพ 1,644 ครัวเรือน 5,375 คน (ยะหา รามัน และเมืองยะลา) ถนน 196 สาย สะพาน 10 แห่ง เสาไฟฟ้า 41 ต้น และโรงเรียน 169 แห่ง
ขณะนี้ฝนในพื้นที่เริ่มตกเบาลง ระดับน้ำเริ่มลดลง สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว 5 อำเภอ คือ อำเภอบันนังสตา กาบัง กรงปินัง ธารโต และอำเภอเบตง สำหรับอำเภอยะหา เมืองยะลา และอำเภอรามัน ยังคงมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ โดย จ.ยะลา ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จังหวัดยะลา จำนวน 8 อำเภอ 58 ตำบล 352 หมู่บ้าน 46 ชุมชน 1 เทศบาลตำบล แนวโน้มสถานการณ์ฝนเริ่มหยุดตกหนัก ระดับน้ำในแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี และคลองสาขาเริ่มลดระดับลง
จ.สงขลา ขณะที่บรรยากาศหลังจากที่น้ำท่วมในพื้นที่หาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่คลี่คลาย ขณะนี้ทางเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บขยะตามตรอกซอกซอยในชุมชนหาดใหญ่ในทั้งฝั่งเทศบาลพัฒนาและฝั่งวัดหาดใหญ่ เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีขยะจำนวนมากที่นำมากองไว้หน้าบ้านและริมถนน โดยลงพื้นที่เก็บขยะตั้งแต่ช่วงตี 4 หัวรุ่ง
ส่วนที่โรงเรียนเทศบาล 5 วัดหาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครหาดใหญ่ที่อยู่ภายในวัดหาดใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถูกน้ำท่วมหนักเพราะอยู่ติดคลองอู่ตะเภา ครูได้เข้ามาฟื้นฟูสภาพภายในอาคารเรียนที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งเต็มไปด้วยโคลนและสิ่งปฏิกูลที่เสียหายจากน้ำ โดยมาช่วยกันตั้งแต่เช้ามืดเพราะรอไม่ได้ ซึ่งก่อนที่น้ำจะท่วมนั้นทางโรงเรียนได้ยกสิ่งของเครื่องใช้สำคัญรวมถึงอุปกรณ์การเรียนไว้ที่สูงแล้วเพื่อให้พ้นน้ำแต่ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมหนักและสูงขนาดนี้ อาคารชั้นล่างถูกน้ำท่วมเละเทะ และยังบอกไม่ได้ว่าจะเปิดเรียนวันไหน
ในส่วนพื้นที่ชุมชนสามสกุลเป็นเขตเทศบาลควนลัง อ.หาดใหญ่ หลังน้ำลดชาวบ้านได้ออกมาทำความสะอาดบ้านและได้รับความเดือดร้องเรื่องของขยะและข้าวสารอาหารแห้ง ชาวบ้านบางส่วนก็เป็นคนที่มีฐานะยากจนหาเช้ากินค่ำ บางคนก็ทำงานรายวันกว่าจะได้ทำงานก็หลายวัน อยากให้เทศบาลควนลังเข้าช่วยเหลือและเก็บขยะ