เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่รัฐสภา น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เพื่อขอให้ตรวจสอบและหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาการทำร้ายเด็กในสถานสงเคราะห์เอกชน จากกรณีที่นักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านกิ่งแก้ว วิบูลสันติ ซึ่งเป็นมูลนิธิเด็กกำพร้าเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ทำร้ายเด็กกำพร้าที่อยู่ในความดูแลประมาณ 3-4 คน ซึ่งมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน โดยเนื้อหาคลิปเด็กหวีดร้องด้วยความหวาดกลัว และมีภาพบาดแผลฟกช้ำจากการถูกทำร้าย แผลพุพองในปากที่ถูกครูพี่เลี้ยงบังคับให้กินพริกเป็นเวลานาน
นายปารมี กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ร้องเรียนทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงอดีต สส. ที่ยื่นเรื่องเข้ามา จึงมีการปรึกษากับ สส.พรรคประชาชน โดยประสานไปยัง สส. ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ทราบรายละเอียดดำเนินการแก้ไขต่อไป สำหรับปัญหาบ้านเด็กกำพร้าเอกชนหรือสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าเอกชนเป็นปัญหาอย่างมาก เคยนำเรียน รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ตนไม่อยากให้เกิดไฟไหม้ฟาง คือเหตุการณ์นี้จบแล้วจบไป หรือแก้เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น อยากให้แก้โครงสร้างทั้งระบบ เนื่องจากสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนในไทยมีเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้มาตรฐานทั้งการดูแลเด็กกำพร้า ปัญหาเรื่องการเงิน รวมไปถึงปัญหาการนำพาเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางหลาย ๆ กลุ่ม อาทิ เด็กชาติพันธุ์ ที่เข้ามาอยู่เพื่อหวังผลประโยชน์จากตัวเด็ก หวังเรื่องการรับบริจาค ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ หวังจะให้กระทรวงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน แก้ทั้งโครงสร้าง แก้ทั้งระบบด้วย
ด้าน น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน กล่าวว่า ในฐานะ สส. ในพื้นที่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้รับเรื่องร้องเรียนจากแหล่งข่าวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่เคยทำงานอยู่ในสถานสงเคราะห์บ้านกิ่งแก้ว วิบูลย์สันติ และอีกหลาย ๆ แหล่ง สรุปได้ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาในเดือน ต.ค. ไม่ได้เป็นเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 66 มีเด็กจากสถานสงเคราะห์ฯ ได้เข้ารับการรักษา เนื่องจากมีบริเวณมีรอยฟกช้ำ บริเวณหน้าอกแล้วหายใจไม่ออก จึงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งแพทย์ประจำตัวเจ้าของไข้เรียกร้องไปยังสถานสงเคราะห์ฯ เพื่อที่จะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล แต่ทางสถานสงเคราะห์ฯ ได้ขอร้องไว้เพื่อที่จะจัดการปัญหาประเด็นเรื่องนี้ในสถานสงเคราะห์ฯ เองก่อน ก่อนที่จะส่งเรื่องไปโรงพยาบาล แต่เหตุการณ์นี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกครั้ง
น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า ในเดือน ก.ค. มีเหตุการณ์ที่บังคับให้เด็กในสถานสงเคราะห์ฯ กินพริก ทำให้เกิดอาการลิ้นบวมพอง ซึ่งเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายและทารุณกรรมเด็กในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ในสังคม ควรจะมีการแก้ไขทั้งระบบ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องไปยัง รมว.การพัฒนาสังคมฯ และจะส่งเรื่องต่อไปยัง กมธ.กิจการเด็กฯ นอกจากนี้ ทางแหล่งข่าวได้แจ้งมาว่ามีเหตุการณ์ทุจริตเรื่องของการเบิกจ่ายเงินของสถานสงเคราะห์ฯ อีกด้วย จึงขอฝากทางคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ และทาง รมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้ติดตามดำเนินการเรื่องนี้
ด้าน น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน กล่าวว่า เมื่อได้ทราบข่าวจากโซเชียลมีเดีย และมีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนมา จึงได้ประสานกับ สส. ในพื้นที่ และได้เข้าพบกับทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา เบื้องต้นได้พูดคุยและได้ทราบว่าเหตุการณ์เหล่านี้ ได้เกิดขึ้นมาหลายปี ซึ่งเด็ก ๆ ตอนนี้เป็นเด็กคนละกลุ่ม คนละชุดกันกับเด็กปัจจุบัน ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าเด็กปัจจุบันทั้งหมด 17 คน ได้ถูกคุ้มครองชั่วคราวกับสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ โดยมีสหวิชาชีพคอยดูแล จึงเกิดข้อสงสัยว่า เด็กกลุ่มเดิมที่ปรากฏเป็นข่าวในคลิปอยู่ที่ใด ทางสำนักงานพัฒนาสังคมฯ เชียงใหม่ ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลระบุที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ มีข้อมูลข่าวบอกว่าสถานสงเคราะห์ฯ ที่เป็นกรณีอยู่ได้ปิดตัวลงแล้ว ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการปิดชั่วคราว ตามเงื่อนไขของสำนักงานพัฒนาสังคมฯ เชียงใหม่ แล้วรอการแก้ไขเปิดใหม่เท่านั้น ส่วนทางคดีความเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ต้องติดตามต่อไป โดยขอให้ทาง กมธ.กิจการเด็กฯ และผู้สื่อข่าว ช่วยติดตามกรณีนี้ ค้นหาเด็กกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรง ว่าอยู่ที่ใด และได้รับการคุ้มครองเยียวยาแล้วหรือไม่
ด้าน น.ส.ภัสริน กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กรรมาธิการจะบรรจุเข้าวาระในการพิจารณาต่อไป เพื่อจะได้แก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อตนรับทราบถึงปัญหาดังกล่าวก็มิได้นิ่งนอนใจ ในฐานะ สส. จำเป็นจะต้องพูดแทนเด็ก เนื่องจากเด็กในวันนี้ อาจจะยังไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถส่งเสียงได้ว่าเขาได้รับความทุกข์ทั้งทางด้านร่างกาย วาจา หรือว่าจิตใจอย่างไร จากเหตุการณ์นี้หรืออีกหลาย ๆ เหตุการณ์ ส่งผลยาวนานกับสภาพร่างกายจิตใจของเด็ก รวมถึงทุกคนในครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องทบทวน อย่างไรก็ตาม จะรับเรื่องนี้เพื่อเป็นปากเป็นเสียงพิทักษ์สิทธิเด็กต่อไป.