เมื่อวันที่ 27 ต.ค. พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ กล่าวว่า การให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นเรื่องดีและถูกต้อง แต่การแสดงความรักมีหลายรูปแบบในแต่ละครอบครัวแต่ต้องทำให้เหมาะสม ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งตรงนี้คิดยาก ทั้งนี้ ปกติเด็กต้องถูกสอนให้รู้จักขอบเขตร่างกายตัวเองเริ่มตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เริ่มจากการรู้จักอวัยวะแต่ละส่วน และส่วนไหนที่ต้องปฏิเสธไม่ให้คนอื่นแตะต้อง สัมผัส โดยผู้ปกครองแสดงความรักเป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีการแสดงออกอาจจะทำให้ขอบเขตการรักษาร่างกายของเด็กเบลอได้ และคิดว่าการแสดงความรักต้องทำเช่นนี้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการแสดงความรักกับการสัมผัส 2 สิ่งเป็นคนละเรื่องกัน

พญ.ดุษฎี กล่าวว่า กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น โดยเจตนาของพ่อแม่อาจไม่ได้แย่ แต่พฤติการณ์ไม่ได้ ไม่เหมาะสม ส่วนพฤติการณ์ที่เข้าข่ายว่าเป็นการละเมิดเด็ก เช่น เด็กเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น มีการคุกคามเสรีทางร่างกายและจิตใจเด็ก อย่างไรก็ตาม เราพบว่าหลายครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จะถูกสร้างความเข้าใจว่าการกระทำบางอย่างไม่ใช่การล่วงละเมิด (Child Grooming) เช่น พ่อบอกลูกว่าพ่อรักจึงทำแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วพ่อกำลังข่มขืนลูก ซึ่งทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อได้

“สิ่งที่จะต้องฝากพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกคือ การให้ความรักกับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่สม่ำเสมอ แต่ขณะเดียวกันต้องอยู่บนพื้นฐานของการสอนให้เด็กรู้จักขอบเขตในการดูแลร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นความปลอดภัยให้เด็กในอนาคตที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว ลูกจะต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยได้” พญ.ดุษฎี กล่าว

เมื่อถามกรณีข่าวที่เกิดอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก หรือเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน ที่อาจจะยังไม่เข้าใจสถานการณ์สังคม ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจกับเด็กอย่างไร พญ.ดุษฎี กล่าวว่า คำแนะนำสำหรับเด็กและครอบครัวคือ เลี่ยงการเสพข่าวในเด็ก ยังไม่ควรให้เด็กรับรู้ข่าวหรือความเห็นของสังคมในตอนนี้ที่มีทั้งบวกและลบต่อครอบครัวหรือเด็กเอง เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวต้องแข็งแรง ลดการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้สถานการณ์สงบที่สุดสำหรับเด็ก ส่วนในวันที่เด็กไปโรงเรียน ต้องคาดการณ์กันถึงปฏิกิริยาของเพื่อนที่มีต่อเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งครูประจำชั้นสามารถช่วยดูแลเด็กได้ สังเกตว่าเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง เด็กถูกรังแกหรือล้อเลียนหรือไม่ รวมถึงสังเกตอาการของเด็กว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ แต่ไม่แนะนำให้ปฏิบัติกับเด็กมากกว่าปกติ

“หากเด็กไม่ได้เสพสื่อ ก็จะไม่เกิดความระแวงในครอบครัว รวมถึงความสัมพันธ์เดิมที่ครอบครัวอบอุ่นดีอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้ความไม่ไว้วางใจหรือไม่ศรัทธาก็จะเกิดยากกว่า ขณะนี้สังคมกำลังช่วยสะท้อนอุณหภูมิสังคมว่า ยังไม่เหมาะสม ครอบครัวต้องประคองกัน ทุกคนเคยผิดพลาด แต่สิ่งที่เราจะช่วยกัน นอกจากสะท้อนแล้ว ก็ต้องให้พื้นที่เขาฟื้นขึ้นมา ลุกขึ้นมาดูแลลูกให้แข็งแรง ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะกับเด็ก มากกว่าการรุมกระหน่ำซ้ำเติม ต้องให้โอกาสให้พื้นที่เขาเปลี่ยนแปลงปรับให้เหมาะสมกับเด็ก” พญ.ดุษฎี กล่าว.