กรณีทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง เกาะติดปัญหาก่อสร้างโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ครอบคลุม อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทยอยจัดสรรให้จำนวน 8 โครงการ ตั้งแต่ช่วงปี 2561 แต่ถูกชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร้องเรียนในช่วงปี 2562 เพราะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเฉพาะในเขตเทศบาลเป็นโครงการป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วม งบประมาณ 148 ล้านบาท ถูกผู้รับจ้างทิ้งงาน สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ได้ประณามว่า “โครงการ 7 ชั่วโคตร” จนถึงปัจจุบัน ปัญหานี้ยังรุกลามเป็นข่าวฉาวโฉ่ให้กับ กรมโยธาฯ เพราะปัญหาการทิ้งงานไม่ได้เกิดเฉพาะใน เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ แต่ยังมีอีก 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 8 โครงการ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ถูกทิ้งงานแบบขาดความรับผิดชอบ ทั้งจากผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องระดับจังหวัดเกียร์ว่างปล่อยปัญหาให้คาราคาซังยาวนาน ซ้ำร้ายผู้ทิ้งงานกลับได้รับการคุ้มครองไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับงาน และปัญหาการค้างค่าแรงงานในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข กลายเป็นประเด็นคำถามปัญหาที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดผู้นำท้องถิ่นได้ออกมาเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาติดตามแก้ไขปัญหานี้ให้ชาวกาฬสินธุ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. 67 ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ รายงานว่า ดร.ฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ ป.กมธ.ป.ป.ช. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รอง ป.กมธ.ป.ป.ช. คนที่สอง นายสุทธิชัย จรูญเนตร รอง ป.กมธ.ป.ป.ช. คนที่สาม นายกิตติ สมทรัพย์ กมธ.ป.ป.ช.สภา นายนิพนธ์ คนขยัน เลขานุการ กมธ.ป.ป.ช.สภา นายประเสริฐ บุญเรือง สส.กาฬสินธุ์ นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ นายพลากร พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช.สภา ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากผู้นำท้องถิ่น นายก.อบต.และนายกเทศมนตรี รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จำนวน 3 โครงการในโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายรุจติศักดิ์ รังษี รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนจาก กรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง โยธาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ผอ.สนง.ป.ป.ท.เขต 4 เข้าร่วมติดตามปัญหา
การสำรวจพื้นที่ทั้ง 3 จุด เป็นการสุ่มตรวจในจำนวน 8 โครงการ ที่ชี้ชัดว่า โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย, โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ พฤติกรรมการทิ้งงานไม่ต่างกันทั้ง 8 โครงการ ทั้ง 3 โครงการยังพบสภาพความเสียหายในจุดก่อสร้างที่ถูกทิ้งเอาไว้เป็นเศษซากปรักหักพัง กลายเป็นสุสานเสาเข็ม ตลิ่งแม่น้ำทรุดเป็นแนวยาวที่ทำให้ชาวบ้านขาดขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตเพราะต้องหวาดผวากับแม่น้ำชีที่เซาะกร่อนตลิ่ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ สภาพความเสียหายทิ้งเอาไว้เห็นภาพชัดที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์พังพินาศลงทุกวัน
จากนั้นเวลา 14.00 น. ที่ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะ กมธ.ป.ป.ช.สภา ได้เข้าประชุมรับฟังปัญหาจากประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น จาก 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 7 ชั่วโคตร ที่การสะท้อนปัญหาไม่ต่างกัน ปัญหาการทิ้งงานทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รัฐเสียประโยชน์ คนพื้นที่เสียโอกาส โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำ โชคดีที่ในปีนี้น้ำไม่มากจึงไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม กับปัญหาคาใจว่าทำไมปัญหานี้ถึงแก้ไขล่าช้า ไม่เหมือนกับโครงการอื่นๆ ที่หากมีการทิ้งงาน ผู้ว่าจ้าง (ภาครัฐ) ก็จะดำเนินการตามระเบียบพัสดุทันที แต่มาในกรณีนี้เหมือนมีความพยายามในการเอื้อประโยชน์ให้กับ ”หจก.ขาใหญ่“ จึงเรียกร้องให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ชัดเจนในการแก้ปัญหา ควรเร่งจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการ พร้อมกับดำเนินการทางพัสดุอย่างเคร่งครัด เช่น การริบเงินประกันสัญญา 5% การเรียกเงินแอดวานซ์ 15% คืน พร้อมทำการไล่เบี้ยเงินคืน พร้อมค่าปรับจากปัญหาการทิ้งงานก่อสร้าง รวมไปถึงการตรวจสอบค่าความเสื่อมของวัสดุ อุปกรณ์ที่ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ กับการที่กรมบัญชีกลางต้องประกาศให้ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ เป็นผู้ทิ้งงาน หมดสิทธิในการประมูลงานจากรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรมฯ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เนื่องจากพฤติกรรมการทิ้งงานเหมือนมีความตั้งใจจะทิ้ง จึงต้องการให้มีการตรวจสอบย้อนหลังการทำงานของ 2 หจก.นี้ไป 10 ปี
ดร.ฉลาด ขามช่วง ป.กมธ.ป.ป.ช.สภา กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการทำงานแบบคู่ขนาดตามอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ป.ป.ช. เพื่อให้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนมาเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ปัญหาก่อสร้างที่ จ.กาฬสินธุ์ 545 ล้านบาท หรือชาวบ้านประณามว่า ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 8 โครงการนั้น ได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว กรมโยธาฯ ยืนยันว่าอยู่ในช่วงการจัดหาผู้รับเหมา แต่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้ผู้รับเหมาแล้ว ส่วนการเอาผิดนั้น หน้าที่ของ กรมโยธาฯ ก็คือการริบเงินและเรียกเงินแอดวานซ์คืนทั้งหมดพร้อมกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากการยกเว้นระเบียบจนกลายมาเป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน ในส่วน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับที่จะเข้ามาตรวจสอบ พร้อมกับ ป.ป.ท. และ สตง.
“เราจะติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะกรณีนี้เป็นความเสียหายต่อภาษีของพี่น้องประชาชน การทิ้งงานทำให้ประชาชนขาดโอกาส จนเป็นข้อสงสัยว่ามีเจตนาฉ้อฉลต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่ ที่การตรวจสอบจะต้องทำให้กระจ่างชัด ส่วนกรณีผู้บริหารจังหวัดก็ได้กำชับให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชน จะอ้างว่าเป็นงบประมาณส่วนกลางก็ไม่น่าจะฟังขึ้น ส่วนจะมีอะไรหรือไม่อย่างไร กมธ.ป.ป.ช. พร้อมที่จะรับฟังปัญหานี้จากประชาชนยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้” ดร.ฉลาด กล่าว
รายงานแจ้งว่า กมธ.ป.ป.ช. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการเข้ามาตรวจสอบของส่วนราชการภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ ผวจ.กาฬสินธุ์ อ้างว่า งบประมาณนี้เป็นเรื่องของส่วนกลางจัดสรรมาให้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ถึงแม้จะเป็นงบประมาณที่มาจากส่วนกลาง แต่หากเกิดผลกระทบต่อประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มีหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกกรณี ป.กมธ.ป.ป.ช. จึงได้ขอความร่วมมือให้ ผวจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านและกลุ่มแรงงานที่ถูกค้างค่าแรงด้วย กับอีกหนึ่งข้อสังเกตนั้น การทำงานยังพบว่า ผู้รับจ้าง โครงการทั้ง 8 โครงการ เหมือนกับขาดความกระตือรือร้นในการก่อสร้าง แม้ว่าจะอ้างว่าขาดสภาพคล่องหรือติดปัญหาช่วงโควิด-19 ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นในการทิ้งงาน เพราะในทางกลับกัน 2 หจก.นี้ มีความมั่นคงทางการเงินในทุกโครงการ หลังจากที่ได้นำเงินประกันสัญญาไปวาง 5% กรมโยธาฯ ก็จะจ่ายแอดวานซ์ 15% ต่อจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มแรงงานในพื้นที่เข้ามาช่วยทำงาน แต่เมื่อครบค่างวดก็ไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้กับกลุ่มแรงงาน จึงเป็นเหตุให้ไม่มีใครเข้ามาช่วยทำงาน ด้าน กมธ.ป.ป.ช. จึงได้เรียกข้อมูลสัญญาการจ้างงาน รายการตรวจงานประจำวัน รวมถึงการพิจารณาจ่ายเงิน และได้กำชับให้ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เร่งตรวจสอบพร้อมสรุปประเด็นปัญหานี้ที่เชื่อว่าหากมีพฤติกรรมฉ้อฉลก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมดต่อไป
สำหรับปัญหาการก่อสร้าง มีจำนวน 8 โครงการ ทุกโครงการก่อสร้างไม่เสร็จและถูกกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างแล้วทั้งหมด ประกอบด้วย (1) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 937 เมตร งบ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 10,336,500 บาท (2) โครงการเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร งบประมาณ 108,800,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 64,544,000 บาท (3) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 19,775,900 บาท (4) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 385 เมตร งบ 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 33,090,500 บาท (5) โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 526 เมตร งบ 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 13,737,500 บาท และ(6) โครงการระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เบิกจ่าย 80,166,000 บาท (7)โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท ความยาว 583 เมตร ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 11,099,000 บาท (8)เขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 20,169,000 บาท.