นางจิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวในปี 2568 ททท. จะให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม หรือนิซมาร์เก็ต โดยโฟกัสใน 4 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเวลเนส, กลุ่มประสบการณ์หรูหรา หรือลักซ์เอ็กซ์พีเรียนซ์, ท่องเที่ยวเชิงกีฬาหรือสปอร์ต ทัวริสซึม และกลุ่มโรมานซ์ หรือฮันนีมูน เพราะแม้จะมีจำนวนน้อย แต่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง และจัดว่าเป็นกลุ่มตลาดลักชัวรี

โดยจากข้อมูลของ alliedmarketresearch พบว่าตลาดนิซมาร์เก็ต มีมูลค่าตลาดโลกอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตถึง 3.9 แสนล้านบาทในปี 2570 โดยจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มมิลเลนเนียลที่มีฐานะปานกลางถึงสูง ในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย ฮ่องกง และอินเดีย ที่จะเป็นตลาดศักยภาพ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย
ทั้งนี้การท่องเที่ยวแบบลักชัวรีในไทยได้รับความสนใจและเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2566 มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวลักชัวรีในไทย อยู่ที่ราว 6-7 หมื่นล้านบาท และ ททท. คาดว่าในปี 2567 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% ต่อปี โดยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 1-3 (ม.ค.-ก.ย. 2567) นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรีมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกไปในพื้นที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) กระบี่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) มีค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ย 77,693 บาทต่อคนต่อทริป หรือเฉลี่ยวันละ 6,171 บาท ใช้เวลาในไทยราว 9-10 วัน
“วันนี้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทหรูในไทย มีให้บริการระดับพรีเมียมไปจนถึงระดับอัลตราลักชัวรี มีการบริหารโดยเชนโรงแรมระดับโลกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับโรงแรม 4-5 ดาวก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 20-30% ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่สัมพันธ์กับดีมานด์การเข้าพักที่สูงขึ้น ส่งผลให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดลักชัวรีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นางจิระวดี กล่าว
สำหรับแผนการโปรโมตการท่องเที่ยวนิซมาร์เก็ตและลักชัวรีในไทย แผนระยะสั้น (1-3 ปี) จะเน้นส่งเสริมงานในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนต์ เหมือนโมเดลของสิงคโปร์ ที่ดึงงานระดับโลกมาจัดพร้อมทำสัญญาห้ามไปจัดที่ประเทศอื่น โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความคุ้มค่าในการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งการจัดงานระดับโลก จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดคอนเสิร์ต งานด้านดนตรี หรือแม้แต่กิจกรรมกีฬาในลักษณะเวิลด์ซีรีส์ อย่าง งานวิ่งเทรล HOKA เชียงใหม่ที่เพิ่งผ่านไป เป็นรายการเวิลด์เมเจอร์ มีนักวิ่งกว่า 7 พันคน กว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ สร้างรายได้มากกว่า 800 ล้านบาท
“อย่างอะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน ที่นักวิ่งมาราธอนกว่า 3.3 หมื่นคน ซึ่งเป็นคนต่างชาติประมาณ 30% การจัดงานในปีหน้านายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายที่จะดึงสปอนเซอร์ระดับโลกเข้ามา ก็จะทำให้ดึงดูดนักวิ่งจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น” นางจิระวดี กล่าว
นางจิระวดี กล่าวว่า ททท. ยังจะส่งเสริมเรื่องของเทศกาลดนตรีนานาชาติ การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ การแข่งขันกีฬาหรู (เช่น การแข่งเรือยอชท์) การส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่จัดงานแฟชั่นโชว์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นความร่วมมือกับแบรนด์หรูในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แฟชั่น สปา และโรงแรมหรู เพื่อสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่นและน่าประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวระดับลักชัวรี ททท. จะรุกตลาดศักยภาพ เน้นทำการตลาดในประเทศที่มีศักยภาพด้านลักชูรี อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง และนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย
ขณะที่แผนการระยะยาว (3-5 ปีขึ้นไป) จะพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี เช่น การจัดทัวร์แบบส่วนตัว หรือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีรีสอร์ทและการให้บริการสปาแบบครบวงจร การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปะ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง การขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี เช่น การขยายสนามบิน การพัฒนาท่าเรือสำหรับเรือยอชท์ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับสูง การปรับปรุงบริการขนส่งสาธารณะหรือบริการรถเช่าหรูเพื่อความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
“เทรนด์การท่องเที่ยวในปีหน้า คือ แอคทีฟ ฮอลิเดย์ คือ มาเที่ยวไปด้วย พร้อมๆ กับการออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพ มาทำเรื่องเวลเนสด้วย โรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้บริการทั้งเวลเนส และด้านสปอร์ต ทัวริสซึม และหากเพิ่มเรื่องการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ก็จะยิ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลกที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะยุโรป จะให้ความสนใจใช้บริการสถานประกอบการที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และการออกมาตรการต่างๆ ของสหภาพยุโรป หรืออียู ที่บังคับเรื่องนี้มากขึ้น