เมื่อเวลา 08.51 น.วันที่ 10 ธ.ค.2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหัวข้อ “ได้ออกนอกบ้าน! : Free at Last!” โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นายนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และ น.ส.อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภายหลังจากเสด็จถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เสด็จฯ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 โดยมี นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กราบบังคมทูลถวายรายงาน ก่อนเบิกผู้จัดและผู้สนับสนุนการจัดงานเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จากนั้นทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2567 พอสังเขป ดังนี้

ภาพแรก ชื่อ “ตามหามาจองหรือไพ่นกกระจอก ที่สมเด็จย่าโปรดเล่น” รับสั่งว่า “เป็นเกมอย่างหนึ่ง มาจากเมืองจีนเมื่อศตวรรษที่ 19 รวม 200 ปีมาแล้ว คนไทยเรียกไพ่นกกระจอก คนจีนเรียกหมาเจี้ยง ฝรั่งเรียกมาจอง ตอนเด็กๆ เคยเห็นสมเด็จย่าเล่น ตอนหลังไม่เห็นท่านเล่นแล้ว ตอนหลังท่านเล่นเปตอง เวลาเสด็จต่างจังหวัดได้เข้าเฝ้าฯ ก็เห็นท่านเล่นเปตองอยู่ ท่านก็ชวนเล่น เคยลองบ้าง ต้องโยนลูกให้ชนกับแท่งให้มันล้ม เท่าที่ลองดูไม่เคยโยนโดนอะไร แสดงว่าไม่มีทักษะในเรื่องความแม่นยำ เป็นอันว่าไม่สำเร็จ”

“ตามหามาจองหรือไพ่นกกระจอก ที่สมเด็จย่าโปรดเล่น”

ต่อมาทรงบรรยายภาพ “อาหารเช้า  ปาท่องโก๋ไดโนเสาร์” ว่า “ปาท่องโก๋พิเศษหน่อยเป็นรูปไดโนเสาร์ อาหารเช้าตอนอยู่ที่เชียงใหม่  เราจะเห็นแบคกราวน์เป็น น้ำปลา เป็นน้ำปลามาจากวังรื่นฤดีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตอนนี้สิ้นพระชนม์แล้ว แต่พวกคุณข้าหลวงยังอยู่และดูแลทำตรงนี้เป็นรายได้ น้ำปลาชนิดนี้หมอคงชอบ ตอนนี้หมอดุเรื่องชอบกินหวานๆ แต่ไม่ดุมากเท่าเรื่องกินเค็ม กลัวเป็นโรคเกี่ยวกับโรคไต ช่วงนี้ต้องระวังสุขภาพ น้ำปลาอันนี้ก็ดีมากรสไม่เค็มมาก แขกไปใครมาก็ชวนกิน แต่พวกผู้สูงอายุจะโกรธถ้ามาน้ำปลาชนิดนี้มาให้กิน เขาบอกว่ากินน้ำเปล่าเสียจะดีกว่า เป็นน้ำปลาสุขภาพ ก็โฆษณาให้เขาเลย”

“อาหารเช้า  ปาท่องโก๋ไดโนเสาร์”

ภาพ “เตรียมฮาโลวีน” ทรงบรรยายว่า “ภาพนี้เป็นภาพปีที่แล้วแต่ปีนี้ก็ยังใช้คุณคนนี้อยู่ แล้วก็มีฟักทองที่แกะสลัก เวลาไปงานอะไรก่อนฮาโลวีนก็ต้องบอกว่า เดี๋ยวต้องรีบกลับ มีธุระสำคัญ แต่ไม่ได้บอกว่ามีธุระสำคัญอะไร สิ่งที่เป็นภารกิจสำคัญก็คือแกะฟักทองเป็นรูปผี เป็นสิ่งที่ต้องทำประจำ วันก่อนช่วงฮาโลวีนเป็นช่วงที่ไม่ทำงานทำการ ต้องแกะฟักทองเป็นรูปผี”

“เตรียมฮาโลวีน”

จากนั้นทรงบรรยายภาพ “ไข่ที่คิงชาร์ลส์ที่ 3  ทรงขาย มาจากไก่ป่าที่มีนักสัตวศาสตร์ชื่อ Clarence Elliott มาจากพาตาโกเนีย มาผสมพันธุ์” อย่างมีพระอารมณ์ขันว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีฟาร์มไก่ ตามประวัติศาสตร์ นักสัตวศาสตร์และสัตววิทยา จริงๆ ก็คือนักสำรวจ เขาเอาไก่ป่ามาจากเมืองพาตาโกเนีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา ตามประวัติที่เคยอ่านปี 1928 เอามา 4 ตัว นักวิชาการขยายพันธุ์สัตว์ ทดลองผสมกับไก่พื้นเมืองของอังกฤษ มาจนกระทั่งเป็นพันธุ์ที่นิ่งและดี  ไข่ไก่ในกล่องมีทั้งหมด 4 ชนิด จำนวน 8 ฟอง แพงกว่าไข่ไก่ธรรมดา ตัวไข่แดงจะแดงมากและมีคุณค่าทางอาหารมากมาย จากประวัติมีเรื่องเศร้า ระหว่างที่นำไก่มาประคบประหงมอย่างดี พ่อครัวไปเจอเข้าเลยเอาตัวนึงมาปรุง ก็เลยเหลือ 3 ตัว ตอนนี้ก็เลยต้องดูแลไม่ให้พ่อครัวมาเห็น

“ไข่ที่คิงชาร์ลส์ที่ 3  ทรงขาย มาจากไก่ป่าที่มีนักสัตวศาสตร์ชื่อ Clarence Elliott มาจากพาตาโกเนีย มาผสมพันธุ์”

“จริงๆ นักสำรวจเหล่านี้หน้าที่อีกอย่างก็คือเป็นสปาย ตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นนักสำรวจ เหมือนที่เขียนไว้ในคำนำหนังสือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยทรงถามว่าโตขึ้นอยากทำอะไร กราบบังคมทูลว่า อยากเที่ยวรอบโลก เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ท่านว่าความคิดนี้ไม่ถูกต้อง ควรจะคิดว่าอยากจะทำประโยชน์ช่วยเหลือคนอื่น จริงๆ คิดว่าเป็นการช่วยเหลือคนอื่นอยู่เหมือนกัน ตามหนังญี่ปุ่นเรื่องอัศวินม้าขาว เขาก็ออกไปตามที่ต่างๆ เจอคนตกทุกข์ได้ยาก มีปัญหาก็ไปแก้ไข และเมื่อแก้ไขปัญหาก็ไม่หยุดอยู่ที่นั่น ก็ได้เดินทางต่อไป ก็อยากจะเป็นแบบนั้น  แต่ว่าป่วยการจะเถียง” ทรงพระสรวล แล้วรับสั่งต่อว่า “จะเถียงก็คงจะไม่เข้าท่าเหมือนกัน เพราะว่านั่นเป็นหนังในทีวีสมัยก่อน” 

“เต่าที่เตรียมถวายพระเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมพระชนมพรรษา”

ภาพ “เต่าที่เตรียมถวายพระเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมพระชนมพรรษา” รับสั่งว่า “อันนี้เป็นธรรมเนียมอยู่เหมือนกัน มีผู้ใหญ่ชื่อคุณยายปุ่นเป็นคนริเริ่ม เวลาวันประสูติวันเฉลิมพระชนมพรรษา ก็จะต้องถวายเต่า ได้นำเต่าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้พระองค์ทรงเจิมและพรมน้ำมนต์เต่า ปกติจะเป็นเต่าตัวเล็กๆ หลายตัว แต่เที่ยวนี้หาเต่าตัวเล็กไม่ได้ ก็ได้เต่าตัวค่อนข้างโต 3 ตัว

“ดูขบวนเรือที่มูลนิธิชัยพัฒนา”

และภาพ “ดูขบวนเรือที่มูลนิธิชัยพัฒนา” ทรงฉายเมื่องานพระราชพิธีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณฯ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” รับสั่งว่า “ได้ไปดูตอนซ้อมและวันจริง แต่ว่าไม่ได้ลงไปข้างล่าง อยู่ที่มูลนิธิชัยพัฒนา”

“ตลาดปากพนัง”

ลำดับต่อมาภาพ “ตลาดปากพนัง” ทรงบรรยายว่า “ได้พาผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปทัศนศึกษา  ครั้งนี้ไป จ.นครศรีธรรมราช บริเวณนี้สมัยก่อนเกิดเหตุวาตภัยแหลมตะลุมพุก ตอนเกิดเหตุก็ยังเล็กๆ อยู่ แต่ที่จำได้ก็คือ ไปช่วยเขาบรรจุถุงเพื่อนำสิ่งของต่างๆ ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ครั้งแรกในชีวิตที่เห็นปลาเค็มมีหนอน ตื่นเต้นมาก แต่คนบอกว่าการที่ปลาเค็มมีหนอนดีปลอดภัย ไม่ได้ฉีดยาเลยมีหนอนไต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ปกติจะส่งดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ มีการขอเพลงได้แล้วก็บริจาค สงสัยว่าเป็นคนในวังเหมือนกัน ที่บริจาคเพื่อร้องเพลง แล้วก็มีอีกคนบริจาค เพื่อให้คนนั้นหยุดร้อง ก็ไม่ว่ากัน เพราะได้เงินเป็นล้านบาท นำไปช่วยกลุ่มผู้ประสบภัยที่แหลมตะลุมพุก

สุดท้ายทรงขึ้นภาพเป็นตัวอักษรขึ้นจอว่า “เชิญถ่ายภาพตามสบาย” แล้วมีรับสั่งว่า “แต่ก่อนนี้ตามงานต่างๆ ที่มีรูปถ่าย จะห้ามถ่ายภาพ แต่งานเราไม่ชอบกดดัน ไม่ชอบทำให้เครียด ก็เลยเขียนว่าเชิญถ่ายภาพตามสบาย บางคนเขากลัวว่าจะมีคนถ่ายไปแล้วบอกว่าตัวเองถ่าย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครมาฟ้อง ไม่เป็นไรดีเสียอีก คนที่ไม่มีโอกาสมางาน ก็จะได้เห็นตามอินเตอร์เน็ต ดูเพื่อความเบิกบาน ร่าเริง”

ก่อนเสด็จฯ ขึ้น ณ ชั้น 9 เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ได้ออกนอกบ้าน! : Free at Last!” และทรงฉายภาพ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งทรงปฏิบัติเป็นธรรมเนียมเฉกเช่นทุกปี นอกจากนี้ ยังทรงจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2567 แก่ผู้ที่มาร่วมงานอีกด้วย

นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ หัวข้อ “ได้ออกนอกบ้าน! : Free at Last!” สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 มี.ค.2568 เวลา 10.00-20.00 น. และมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “ได้ออกนอกบ้าน! : Free at Last!” ในราคาเล่มละ 900 บาท.