นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวมในปี 2567 อยู่ที่ 270,000 ตัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและจากสภาพอากาศแปรปรวน กระทบคุณภาพลูกกุ้งและการเลี้ยงของเกษตรกร รวมถึงราคากุ้งตกต่ำที่ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอ การลงกุ้ง ตามที่สมาคมกุ้งไทยได้แถลงการณ์ออกมาก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมง มิได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ได้เตรียมนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอยกระดับการแก้ปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ และจะดำเนินการแก้ไขปัญหาบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโรคระบาด เช่น โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาว และ Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) ของกรมประมงเพื่อยุติความเสียหายและความเดือดร้อนของพันธมิตรผู้เลี้ยงกุ้ง
จากผลการเฝ้าระวังโรคในกุ้งทะเลในปี 2567 พบว่าแนวโน้ม การตรวจพบเชื้อ EHP ลดลง ในขณะที่แนวโน้มการตรวจพบเชื้อ EMS สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาจเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยกรมประมงได้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ตามแนวทาง ดังนี้ 1. ให้บริการตรวจเฝ้าระวังโรคแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล ฟาร์มเลี้ยง สถานประกอบการส่งออกสัตว์น้ำ และสถานบรรจุสัตว์น้ำ มากกว่า 200,000 ตัวอย่าง
2. ให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคในกุ้งทะเลป่วย พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการแก้ไข 3. ให้บริการคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile Clinic) ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยการตรวจสุขภาพกุ้งทะเลเบื้องต้น การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร และให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาการจัดการ ในฟาร์ม รวมทั้งการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง นครปฐม นครศรีธรรมราช และชุมพร มีเกษตรกรเข้ารับบริการมากกว่า 200 ราย
4. เผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านโรคและการจัดการสุขภาพกุ้งทะเลตามหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นพื้นฐาน 5. แจ้งเตือนเกษตรกรเพื่อเฝ้าระวังโรคในทุกฤดูกาล รวมทั้งในกรณีที่พบการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ จำนวน 5 ครั้ง ในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้ การแจ้งเตือนการระบาดโรคตัวแดงดวงขาว การแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพสัตว์น้ำ การแจ้งเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงปลายฝนต้นหนาว การแจ้งเตือนการระบาดโรคแคระแกร็น และการเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำในช่วงฤดูฝน
6. อำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถติดต่อแจ้งกรมประมงเมื่อพบปัญหากุ้งทะเลป่วย ได้แก่ ช่องทางไลน์แอปพลิเคชั่น และแพลตฟอร์มการรายงานโรค (กพส.สร.1) 7. สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการในระดับพื้นที่ จำนวน 6 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพกุ้งทะเลเบื้องต้นแก่เกษตรกรได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 8. จัดประชุมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายผลิตกุ้งปลอดภัยไร้สารตกค้าง จำนวน 4 ครั้ง ในปี 2567 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สงขลา สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 956 ราย และมีเจ้าหน้าที่กรมประมงลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เรื่อง การใช้ยาและสารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด การเพาะเลี้ยงชะลอตัว และราคากุ้งที่ตกลงในห้วงเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์เริ่มทยอยดีขึ้นตามลำดับซึ่งได้รับความร่วมมือและข้อแนะนำต่าง ๆ จากสมาคมกุ้งไทยและผู้เกี่ยวข้องจากกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการทำงานของกรมประมง โดยขณะนี้ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศยกระดับเรื่องการแก้ปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ และจากมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนคาดการณ์ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องโรคกุ้งให้ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง