นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีการเลื่อนชำระค่าให้สิทธิบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (EARA1) ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ออกไปอีก 3 เดือน นับจากวันที่ 24 ต.ค.64 ว่า รฟท. มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ให้เร่งแก้ไขปัญหา หลังจาก EARA1 ได้ทำหนังสือขอให้พิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ รฟท. ได้ยึดหลักการ และแนวทางที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน รฟท. ยังคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร โดยให้มีผลกระทบต่อ รฟท. น้อยที่สุด รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญระดับประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างมั่นคง ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชน และมีผลกระทบต่อ รฟท.น้อยที่สุด ขณะเดียวกันโครงการฯ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ รฟท. จึงได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ร่วมกับ EARA1

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า สำหรับบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นการบริหารสัญญาภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมลงทุนเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่กระทบบริการสาธารณะในช่วง รฟท. และเอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยในบันทึกข้อตกลง มีรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้ 1. บันทึกข้อตกลงสิ้นสุดผลการใช้บังคับเมื่อครบ 3 เดือน นับจากวันที่ 24 ต.ค.64, 2. รฟท. ยังไม่มอบสิทธิการดำเนินการโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้แก่เอกชน และ รฟท. มีสิทธิรับรายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์

3. โดยระหว่างที่มีการพิจารณาเงื่อนไขของสัญญาอยู่ จะให้เอกชนคู่สัญญาเข้ามาช่วยสนับสนุน รฟท. และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด (รฟฟท.) ในการดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเอกชนจะสนับสนุนบุคลากร และรับความเสี่ยงทั้งหมด โดย รฟท., รฟฟท. และที่ปรึกษาของ รฟท. จะกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตาม KPI ที่บันทึกข้อตกลงฯ กำหนด รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเอกชนสามารถนำรายได้ค่าโดยสารไปชำระค่าใช้จ่ายได้ แต่หากมีกำไรต้องส่งคืนให้ รฟท. หากรายได้ค่าโดยสารไม่เพียงพอชำระค่าใช้จ่ายในงานที่ได้มอบหมายให้ดำเนินการ เอกชนจะต้องเป็นผู้ชำระในส่วนที่เกิน

4. เอกชนต้องทำประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, 5. เอกชนคู่สัญญาต้องชำระเงิน 10% ของค่าสิทธิในการบริหารตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเงิน 1,067 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฯ และสัญญาร่วมทุนฯ, 6. รฟท. มีสิทธิยึดถือหลักประกันจนกว่าจะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ และหากต้องคืนหลักประกัน รฟท. คืนโดยไม่มีดอกเบี้ย และ 7. หากไม่แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ต.ค.64 หรือที่ขยายเพิ่มเติม รฟท. มีสิทธิริบหลักประกัน เพื่อนำมาชำระการไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชน

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า รฟท. ยืนยันว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และขอยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และครอบคลุมในทุกมิติ โดยจะไม่มีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบอย่างเด็ดขาด