ประเด็นร้อนต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการสัมมนาพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.ที่จะประจวบคีรีขันธ์ “นายทักษิณ ชินวัตร “ อดีตนายกฯ ในฐานะบุพการี”น.ส.แพทองธารชินวัตร “ นายกฯ ได้ขึ้นกล่าวในระหว่างให้คำแนะนำกับ สส. ตอนหนึ่งระบุว่า “…เมื่อ 2 วันก่อนมีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบ ป่วย อย่างนี้ ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องด้วยกันสิ วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน เราเป็นคนพูดรู้เรื่อง ห้ามหนี ต่อไปใครหนีก็บอกว่า ถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย ง่ายดี

ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา..พรรคร่วมรัฐบาลต้องทำงานร่วมกันจริงๆ ตรงไปตรงมา มีอะไรไม่พอใจพูดกัน แต่สิ่งไหนที่เป็นนโยบายรัฐบาลคือต้องทำ ไม่ใช่ได้ตำแหน่งแล้วไม่เอาแล้ว วันนั้นไม่สวยเลย วันนี้ที่หายไปตอน พ.ร.ก.เข้า มันไม่ใช่ลูกผู้ชาย”

สำหรับ รมต.ที่ลาประชุม ไม่เข้าประชุม ครม.วันดังกล่าว 7 คน แต่ในระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมคือ 1. นายอนุทิน ชาญวีรกุล รอง นายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท. ) และ 2. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รอง นายกฯ และ รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ด้าน”นายอนุทิน” เป็นการพูดถึงคนที่ไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งบอกไปแล้วว่า ได้เข้าประชุม และมีการติดต่อประสานงานอยู่ตลอดเวลา ขออย่าไปใส่ใจเรื่องพวกนี้ พร้อมทั้งยืนยัน ทุกคนทำอยู่แล้ว การสนับสนุนนโยบายแกนนำรัฐบาล ตราบใดที่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ( รธน. ) และไม่ผิดกฎหมาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติจะไม่ทำได้อย่างไร เราพูดชัดเจน อะไรที่อยู่ในนโยบาย เรารับทราบ และต้องสนับสนุน ตอนนายก ฯ แถลงนโยบายต่อสภา เรารับฟังหมดแล้วและก็สนับสนุน ส่วนอะไรที่ไม่ได้อยู่ในนโยบาย ถ้าจะทำต้องมาพูดคุยกัน เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในนโยบาย ก็มาพูดคุยและสนับสนุนกัน โดยอยู่ในกรอบที่ไม่ผิดกฎหมาย อย่าทำร้าย และเป็นผลร้ายกับประเทศ และประชาชน ถ้าเป็นตามกรอบนี้ เราก็ตกลง ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราก็โน 

ส่วน”นายพีระพันธุ์”ยังไม่ได้ชี้แจงต่อสาธารณชน คงต้องรอการประชุม ครม. วันที่ 17 ธ.ค. เรื่องนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และมีรัฐมนตรีคนอื่นชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะคำพูดของอดีตนายกฯ กระทบกับเอกภาพในการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล หรือมีแผนที่จะปรับบางพรรคออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค รทสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรครวมรัฐบาลยังคงทำงานไปด้วยกันได้หรือไม่ ว่า รัฐบาลทุกคนทำงานด้วยกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อจะขับเคลื่อนฟื้นเศรษฐกิจ และทำให้ความชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ภารกิจหนักขนาดนี้ สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำคือมาทะเลาะกันเอง ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่ แต่สำหรับตนเอง จะต้องให้ไปพูดคุยทำงานกับใคร เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำทั้งหมด เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุถึงพรรคร่วมรัฐบาลไม่ร่วมพิจารณาพ.ร.ก. กฎหมายภาษีระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ในการประชุมครม.ที่แล้ว ไม่ได้หมายความถึงพรรครทสช.ใช่หรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ส่วนจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหวาดระแวงหรือไม่นั้น ในฐานะเลขาธิการพรรครทสช.อยู่ในการเมืองมานาน ไม่เคยหวั่นไหวอะไรอยู่แล้ว เรามีโจทย์มีภารกิจที่สำคัญต้องทำ บางเรื่องถ้าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ปล่อยกันไป งานก็ยากอยู่แล้วแข่งกับเวลา ทางที่ดีควรจับมือกันทำงานให้ดีที่สุด

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า อยู่ในที่ประชุมครม. และเป็นรัฐมนตรีที่ผู้สนับสนุน พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ เพราะมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศ และเกี่ยวกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ตั้งข้อสังเกตของตนเองที่ให้ไว้ในที่ประชุมครม.ตนจึงไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนจุดยืนของพรรครทสช. เกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล ต้องไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา112 ไม่เกี่ยวกับทุจริตและอาญาร้ายแรง

“เท่าที่ทราบทุกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคพท.ก็ให้เกียรติกับจุดยืนที่มีการสัญญาไว้ตั้งแต่ต้น ก็ยังไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก็เป็นไปตามนั้นหมด ตราบใดที่เป็นแบบนี้ก็เดินหน้าทำงานกันไปได้  ไม่ได้มีปัญหาอะไร แยกกันออกอยู่ เอาเรื่องงานก่อน วันนี้น้ำก็ท่วมอยู่ เศรษฐกิจก็ต้องแก้และไม่ใช่แก้อย่างเดียว กลับมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศ เอาเวลาตรงนี้มาจับมือกันร่วมทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองดีที่สุด” นายเอกนัฏ กล่าว

ต้องรอดูประเด็นที่นายทักษิณ กล่าวในระหว่างการสัมมนาพรรค จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ส่งผลไปถึงเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ แม้วันนี้ผู้ที่พาดพิงจะไม่พยายามขยายผลความขัดแย้ง แต่ในอนาคตอาจมีการเอาคืนหรือไม่ เพราะนักการเมืองมักไม่มีใครยอม ตกเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ” นายทักษิณ ชินวัตร “ อดีตนายกฯ ยังมีคิวเดินสายอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23-25 ธ.ค. นี้ เพื่อช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ “สว.ก๊อง” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ. ) เชียงใหม่ที่เพิ่งลาออกเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้นายทักษิณจะออกเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ในช่วงบ่ายวันที่ 23 ธ.ค. ก่อนมีกำหนดการขึ้นเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ กับประชาชนอำเภอเมือง ในเขต นอกเขตเทศบาล 25 อำเภอ

จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 24 ธ.ค.นายทักษิณจะพบกับสมาคมหอการค้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่โรงแรมสมายล์ ล้านนา ก่อนที่ช่วงสายจะขึ้นเวทีปราศรัย ที่ตลาดภูสุวรรณ อำเภอสันป่าตอง เพื่อพบกับประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอสันป่าตอง หางดง แม่วาง ดอยหล่อ และจอมทอง ขณะที่ช่วงบ่ายจะขึ้นเวทีปราศรัย ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพบกับประชาชน ในอำเภอสันทราย แม่ริม พร้าว สะเมิง แม่แตง และเชียงดาว ก่อนที่ช่วงเย็นจะขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้ง บริเวณลานหน้าหมู่บ้านสมหวัง เพื่อพบกับประชาชน ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง ดอยสะเด็ด แม่ออน และสารภี ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ 25 ธ.ค.

ต้องรอดูคำปราศรัยของ”นายทักษิณ” จะพาดพิงใครอีกหรือไม่ หรือการให้สัมภาษณ์ในประเด็นการเมือง จะสร้างความร้อนแรงขึ้นมาอีกหรือไม่ เพราะในฐานะที่มีสถานะเป็นบุพาการีของน.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย( พท.) ทุกย่างก้าวทุกความเคลื่อนไหวย่อมถูกจับตามอง

ส่วนความเคลื่อนไหวของ 20สส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ภายหลังถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมสมัครเข้าสังกัดพรรคกล้าธรรม (กธ.) และจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ก่อนจะมีการประชุมปรับโครงสร้างกรรมการบริหาร (กก.บห.)พรรคชุดใหม่ โดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามเดิม ขณะที่ตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อาทิ ประธานที่ปรึกษาพรรค ร.อ.ธรรมนัส จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว เลขาธิการพรรค มีชื่อของนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ส่วนตำแหน่งเหรัญญิกพรรค มีชื่อ”นายอรรถกร ศิริลัทธยากร” สส.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ คาดว่า 20 สส.จะเปิดตัว และประชุมปรับโครงสร้างพรรคแล้วเสร็จในช่วงก่อนปีใหม่ 2568 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส 20 คน ประกอบด้วย 1.ร.อ.ธรรมนัส  2.นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี 3.นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์  4.นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา 5.นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.สงขลา 6.นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี 7.นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ สส.เชียงใหม่ 8.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี 9.นายปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน 10.นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร 

11.นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์  สส.กำแพงเพชร 12.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก 13.นางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด 14.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี 15.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส 16.นายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี 17.นายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา 18.นายอรรถกร 19.นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ  20.นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส

ถือเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ที่น่าจับตามอง เพราะ”ร.อ.ธรรมนัส” ถือเป็นมือการเมืองที่”นายทักษิณ ชินวัตร “ อดีตนายกฯให้ความไว้วางใจ ซึ่งการได้ 20 สส. มาร่วมเป็นสมาชิกพรรค ทำให้จำนวนสส.เพิ่มเป็น 24 คน ซึ่งถือเป็นพรรคขนาดกลาง และเชื่อว่า ด้วยอำนาจและบารมีของร.อ.ธรรมนัส คงน่าจะทำให้สส.ไหลเข้ามาอีกเรื่อยๆ

“ทีมข่าวการเมือง”