เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในระยะนี้ไปจนถึงหน้าร้อน โรงงานที่ประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีและวัสดุที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง จะมีความเสี่ยงในเรื่องเพลิงไหม้เพิ่มขึ้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีการป้องกันอย่างรอบคอบ จึงมีข้อสั่งการให้ติดตาม ให้คำแนะนำกับโรงงานที่มีความเสี่ยง ในการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักร การจัดเก็บสารเคมีให้มีสภาพและคุณลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด การเตรียมและซ้อมแผนป้องกันภัย เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย ผลกระทบ และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบการและการเก็บรักษาสารเคมีอันตราย

น.ส.ปรีญาพร กล่าวว่า ข้อมูลปี 2566 มีสถิติอุบัติภัยจากสารเคมีและการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม รวม 51 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่เกิดอุบัติภัยฯ 36 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเหตุเพลิงไหม้ 21 ครั้ง และปี 2567 (ข้อมูลถึงวันที่ 18 ธ.ค. 2567) มีสถิติอุบัติภัยจากสารเคมีและการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม 27 ครั้ง ลดลงจากปี 2566 ที่เกิดอุบัติภัยฯ 51 ครั้ง เกือบทั้งหมดเป็นเหตุจากเพลิงไหม้ ถึง 20 ครั้ง แบ่งเป็น 1. เพลิงไหม้โรงงานสารเคมี โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโกดังเก็บสินค้า 10 ครั้ง 2.โรงงานผลิตกระดาษและพลาสติก 5 ครั้ง 3. ร้านรับซื้อของเก่า 2 ครั้ง 4. โกดังเก็บกากของเสียและสารเคมีอันตราย 2 ครั้ง และ 5. โรงไฟฟ้าจากขยะ 1 ครั้ง สาเหตุหลักของเพลิงไหม้เกิดจากอุบัติเหตุ การขาดการบำรุงรักษาเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและความประมาทของเจ้าหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีการใช้สารเคมีและการใช้ความร้อนในการผลิตและแปรรูป รวมถึงมีการเก็บสะสมวัตถุดิบที่ลุกติดไฟได้ วัสดุจำพวกพลาสติก สารไวไฟ และกระดาษจำนวนมาก ไม่นับรวมถังเก็บเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต อาทิ ถังแก๊สขนาดใหญ่ เป็นต้น
น.ส.ปรีญาพร กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2567 มีเหตุเพลิงไหม้โรงงานและโกดังที่พบว่ามีการเก็บสะสมสารเคมีและกากของเสียอันตรายอย่างผิดกฎหมาย จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ กรณีโกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย ของบริษัท วินโพรเสส จำกัด มหาชน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมีของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ในพื้นที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา (2 ครั้ง) ซึ่งเมื่อเกิดเหตุ เพลิงจะไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถใช้น้ำเพื่อดับเพลิงได้โดยง่าย จำเป็นต้องใช้โฟมเคมีช่วยในการควบคุมเพลิง และต้องใช้เวลาในการจัดการนานมากกว่าปกติ โดยเหตุดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเขม่าควัน ไอระเหยและกลิ่นเหม็นของสารเคมีอันตราย ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่โดยรอบ ต้องมีการอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวจนกว่าเหตุจะยุติ รวมทั้งพบว่ามีสารเคมีรั่วไหลปนเปื้อนออกไปสู่พื้นที่โดยรอบ และต้องใช้งบประมาณในการจัดการเป็นจำนวนมาก

น.ส.ปรีญาพร กล่าวต่ออีกว่า คพ. ได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ 1-16 โดยเฉพาะสำนักงานควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ 13 (ชลบุรี) ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดภาคตะวันออก ที่มีโรงงานจำนวนมากและเกิดเหตุบ่อยครั้ง ในการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และในช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ ขอให้โรงงานตรวจสอบความปลอดภัยในโรงงานอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสี่ยงไฟไหม้และอุบัติภัยอื่นๆ หากเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี โทรฯ แจ้งสายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650.