สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. เกี่ยวกับโศกนาฏกรรม เที่ยวบินเจ2-8243 ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ส ซึ่งใช้เครื่องบินโดยสารรุ่นเอ็มบราเออร์ อี190 พร้อมผู้โดยสาร 62 คน และลูกเรือ 5 คน ตกใกล้กับเมืองอัคเตา ทางตะวันตกของคาซัคสถาน ระหว่างเดินทางจากกรุงบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ไปยังเมืองกรอซนี ทางตอนใต้ของรัสเซีย เมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย และรอดชีวิต 29 คน
กระทรวงคมนาคมอาเซอร์ไบจานออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับผลการสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้น เชื่อว่า เครื่องบินลำดังกล่าว “ได้รับแรงกระแทกจากภายนอก” ระหว่างอยู่เหนือเมืองกรอซนี โดยผู้โดยสารที่รอดชีวิตหลายคนให้การไปในทางเดียวกัน ว่าได้ยินเสียงระเบิดอย่างน้อย 3 ครั้ง ระหว่างที่เครื่องบินอยู่เหนือเมืองกรอซนี
ขณะที่แถลงการณ์ของอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ส ประกาศการระงับให้บริการเที่ยวบินระหว่างอาเซอร์ไบจาน กับปลายทางอย่างน้อย 10 แห่งในรัสเซีย และระบุด้วยว่า การตกของเที่ยวบินเจ2-8243 เกี่ยวข้องกับ “การก่อกวนทางกายภาพและเทคนิคจากภายนอก”
#UPDATE An Azerbaijan Airlines plane that crashed in Kazakhstan suffered physical "external interference", the airline and Azerbaijan's transport minister said Friday, citing preliminary investigation results, adding to speculation it was hit by a Russian air defence system ➡️… pic.twitter.com/E9yCmGI3Ke
— AFP News Agency (@AFP) December 27, 2024
อย่างไรก็ตาม สำนักงานการบินพลเรือนรัสเซียออกแถลงการณ์ ว่าทัศนวิสัยที่เมืองกรอซนี ในวันเกิดเหตุ “ไม่ค่อยดีนัก” โดยมีหมอกลงหนาจัด และระบุว่า กองทัพยูเครนกำลังปฏิบัติการด้วยโดรนอยู่ในบริเวณนั้น และเที่ยวบินลำที่ประสบเหตุพยายามลงจอดแล้วสองครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ หอบังคับการบินจึงเสนอสนามบินทางเลือกให้กับเที่ยวบินดังกล่าว คือ สนามบินในเมืองอัคเตา และกล่าวว่า สนามบินในเมืองกรอซนี ระงับให้บริการเที่ยวบินขาเข้าและขาออกแล้ว แต่ไม่ได้ระบุชัดเจน ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด
อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นหลายแห่งของอาเซอร์ไบจาน สื่อหลายแห่งในยุโรป สื่อของตุรกี และสื่อของสหรัฐรวมถึงเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในการสืบสวนสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐ ว่าระบบขีปนาวุธ ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้แบบอัตตาจร “แพนต์เซอร์-เอส” ของรัสเซีย แต่การโจมตีน่าจะเกิดขึ้น “โดยไม่เจตนา” .
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES