เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 1 นายแซม สา เมท เชื้อชาติกัมพูชา อายุ 20 ปี ผู้ต้องหาคดีร่วมจัดกิจกรรมที่มีคนมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ , มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ฯ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดข้อหาอื่น ๆ โดยขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. – 10 พ.ย.นี้ เนื่องจากจะต้องสอบพยานจำนวน 5 ปาก และรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ ประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

พฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค.64  มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คนขึ้นไป ชุมนุมที่หน้า สน.ดินแดง เพื่อเรียกร้องทางการเมืองและขับไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออก ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ มีการใช้สิ่งปฏิกูลและสิ่งสกปรกสีแดงคล้ายเลือดเทราดบนศาลพระภูมิ และทุบทำลาย จุดไฟเผาศาลพระภูมิ โดยมีผู้ต้องหาใช้รองเท้าส้นสูงทุบศาลพระภูมิและใช้ขวดน้ำปาใส่ ชั้นสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป แต่ผู้นั้นไม่เลิก, ทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และเป็นบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 83, 215 วรรคแรก, 216, 217, 358 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ข้อ 2 ลงวันที่ 15 ต.ค.64 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12 (1), 18 วรรคสอง, 62, 81

ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ท้ายคำร้อง พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาด้วย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจากข้อมูลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งมีพฤติการณ์และการกระทำความผิดในลักษณะนี้ พบว่ามีผู้ต้องหาจำนวนหลายรายที่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วได้กลับมากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกหากไม่มีการควบคุม กำหนดมาตรการบังคับหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่เคร่งครัดจะเป็นการยากในการควบคุมดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและภาพลักษณ์ภายในประเทศอีกทั้งการกระทำของผู้ต้องหาแสดงให้เห็นถึงความไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงเป็นการร่วมกิจกรรมการชุมนุม โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงการระบาดของโรคติดต่อในวงกว้างซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง และประชาชนที่ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมา นอกจากนี้การชุมนุมมั่วสุมดังกล่าวยังมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปเกรงว่าอาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) และผู้ต้องหานี้ได้เคยถูกจับตามหมายจับของศาลอาญาที่ 580/2564 ลงวันที่ 26 มี.ค.64 ในความผิดเกี่ยวกับการมั่วสุมชุมนุม ฯ และได้กลับมากระทําความผิดในครั้งนี้อีก ศาลพิจารณาคำร้องและเหตุจำเป็นแล้ว อนุญาตให้ฝากขังได้

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฝากขัง ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,500 บาท ขอปล่อยชั่วคราว

ศาลพิเคราะห์ พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลในความผิดลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาแล้ว แต่กลับมาร่วมกับพวกก่อเหตุเป็นคดีนี้ในลักษณะความผิดทำนองเดียวกันซ้ำอีกในระหว่างได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาจะกลับไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นซ้ำอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว