เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่มีการเผา โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการงดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย และพืชอื่น ๆ 

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า รวมทั้งประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ และให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่น ๆ ที่ผ่านการเผา ให้กระทรวงกลาโหมขอให้หน่วยงานความมั่นคง และกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิด ตามแนวชายแดนต่าง ๆ อย่างเข้มงวด

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า จากนั้นนายกฯ มีข้อสั่งการส่วนราชการอื่นๆ ที่จะสามารถลดค่าฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ในภาคอื่น ๆ ได้ โดยให้ กระทรวงคมนาคม และ สตช. ตรวจสอบและห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิกอัพ รถโดยสาร รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ รวมทั้งรถขนส่งมวลชนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ ให้กระทรวงมหาดไทยกำชับ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ให้ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อยฝุ่นควันพิษ PM 2.5 จากสถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้กับผู้ประกอบการซึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าว อย่างจริงจัง 

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมโยธาฯ) กำหนดแนวทางป้องกันมิให้เกิดการปล่อยฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ในโครงการก่อสร้างของรัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐ นำไปกำหนดการจัดทําข้อกําหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ของการจ้างก่อสร้างต่อไป เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และให้กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ พัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับฮอตสปอต และเวนทิเลชั่น โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ โลว์คอสต์เซ็นเซอร์ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของฝุ่นควันพิษ PM 2.5 อย่างบูรณาการ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีข้อสั่งการต่อไปว่า ในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กระทรวงมหาดไทย กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมการป้องกันกรณีที่มีการลักลอบเผาและเกิดไฟไหม้ลุกลามในวงกว้างและเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันพิษ PM 2.5 และในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ฝุ่นควันที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและผลเสียต่อสุขภาพอย่างมหาศาล 

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวต่อว่า จึงได้เร่งผลักดันการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพจากการหายใจอากาศที่มีฝุ่นควันพิษ PM 2.5 โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในรูปแบบที่ให้เป็นตัวเงิน (อินแคส) และรูปแบบการสนับสนุนและการกำกับตามกฎหมาย ยกระดับมาตรฐาน บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (อินคาย) นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 จากการเผาอ้อยในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า ระยะเร่งด่วน 1.ผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อย ลดฝุ่นควันพิษ PM 2.5 2.สนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืม นำไปใช้สางใบอ้อยทดแทนแรงงานคน 3.การยกเว้นอากรศุลกากรการนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร 4.การชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อย 5.ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 120 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน กรณีโรงงานน้ำตาลลงทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อสนับสนุนลดฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคการเกษตรให้กับกลุ่มเกษตรกร 6.นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อติดตามและลดการเผาอ้อย 

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาว 1.การกำหนดปริมาณมาตรฐานในการผลิตน้ำตาลทรายขั้นต่ำของโรงงาน 2.กำหนดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2567/2568 ไม่เกินร้อยละ 25 3.มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/2568-ปี 2569/2570 และ 4.มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่นควันพิษ PM 2.5 แผน 3 ฤดูการผลิต

“รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้อง และผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 อย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนอากาศที่สะอาดให้กับประชาชน และสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลต่อไป และจากข้อมูลติดตามสถานการณ์ฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2567-9 ม.ค. 2568 ในภาพรวม พบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีส้ม จำนวน 53 จังหวัด“ น.ส.ศศิกานต์ กล่าว