เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ทางพรรคชาติไทยพัฒนา ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมถึงการได้มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องหมวด 1 และหมวด 2 ว่ายืนยันจะไม่ไปแตะต้อง ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น เราก็ยินดีสนับสนุน แต่หากถ้าแตกต่างไป เราก็คงจะต้องสงวนความเห็นเราไว้ สิ่งที่เราพูดเอาไว้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ว่าเราทำงานโดยคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพยิ่งของคนไทยทุกคน
เมื่อถามอีกว่าในร่างฉบับของพรรคเพื่อไทยนี้ เห็นที่มา ส.ส.ร. แล้ว มีความเห็นอย่างไรบ้าง นายวราวุธ กล่าวว่า เดี๋ยวจะต้องหารือกันเพราะเรายังคงเชื่อว่า บางส่วนควรจะเป็นการคัดเลือกมา เหมือนอย่างในสมัยที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา บิดาของตนที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการคัดเลือกมาจากหลายวงการอาชีพ และแน่นอนว่ามีการเลือกตั้งมาส่วนหนึ่งเช่นกัน แน่นอนว่าจากสมัยเมื่อปี 40 ถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนเวลาเปลี่ยน สาขาอาชีพก็เปลี่ยนไปแล้ว ส.ส.ร. ก็ควรจะต้องสะท้อนถึงองค์ประกอบของประชาชนซึ่งสะท้อนถึงสังคมปัจจุบัน
เมื่อถามอีกว่าความเห็นในการทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง นายวราวุธ กล่าวว่า ตนยังยืนยันว่าขอให้ดูแนวทางการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะไม่ว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง ก็แล้วแต่ เราอยากทำให้ถูกต้อง เพราะหากทำเร็ว แต่โดนตีตก มันก็จะกลับเป็นเหมือนเดิม ที่สำคัญตนเคยเรียนแล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทันในรัฐบาลนี้ แต่ก็เช่นเดียวกับตอนสมัยที่บิดาของตนเป็นนายกฯ คือเมื่อปี 2538 ได้เริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้สำเร็จในรัฐบาลของคุณพ่อตน แต่รัฐบาลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของ ส.ส.ร. ดังนั้นรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญจะไปเสร็จในรัฐบาลใดก็แล้วแต่ หรือถ้าหากว่าเลือกตั้งเสร็จแล้ว พรรคเพื่อไทยก็จะได้ใช้เป็นความพยายามว่าจะได้มาตั้งรัฐบาลใหม่ จะได้กล่าวได้ว่าเป็นคนเริ่มต้น และมีรัฐธรรมนูญมาครอบในรัฐบาลของเพื่อไทยเช่นกัน
เมื่อถามอีกว่าแล้วจะจะทำอย่างไรให้ สว. เห็นด้วย นายวราวุธ กล่าวว่า อันนี้คงต้องเจรจากัน ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วจะหาจุดลงตัวกันได้อย่างไร
เมื่อถามต่อว่าตัวรัฐมนตรีเองมีปัญหากับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อด้อยและข้อดี แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ก็ยังมีข้อด้อยอยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อเห็นข้อด้อยแล้ว เราก็หาวิธีมาปรับแก้กัน รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีข้อด้อย เราก็มาดูกันว่าเราจะแก้อย่างไรได้หรือไม่ แต่ว่าเรายังเชื่อในรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ร. จะได้แก้คำครหาของหลาย ๆ ฝ่ายได้.