เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กรณีสำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564 เรื่อง ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกฯ อบจ.สงขลา โดยคำสั่งดังกล่าวให้เหตุผลไว้ส่วนหนึ่งว่า การกระทำของนายนิพนธ์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ประกอบ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2550 ม.79 นั้น กรณีสั่งให้จากตำแหน่งย่อมเป็นเหตุที่ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (8) หรือไม่ ซึ่งการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำได้ 2 ทาง คือ 1. ร้องผ่าน กกต. ซึ่งตนจะดำเนินการในส่วนนี้ 2. ส.ส. หรือ ส.ว. ใช้สิทธิร้องตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งจะเร็วกว่าการร้องผ่าน กกต. แต่ต้องรอดูว่า ส.ส. จะเข้าชื่อหรือไม่ ส่วน ส.ว. ตนไม่คาดหวัง

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนได้นำคำวินิจฉัยของ กกต.ในลักษณะคล้ายคลึงกันมาเทียบเคียงด้วย เช่น คำวินิจฉัยที่ 152/2564 และคำวินิจฉัยที่ 364/2564 ซึ่งเป็นกรณีการออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยก่อนหน้านี้ หรือ เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งยังมีการโต้แย้งทางปกครองด้วย แต่ กกต. ก็วินิจฉัยให้มีลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งสองตัวอย่างจึงเป็นแนวปฏิบัติที่นำมาเทียบเคียบกับกรณีนายนิพนธ์  ซึ่งในการร้องคราวนี้ ตนจะทวงถาม กกต. ถึงคำวินิจฉัย ที่ 58/2563 ลงวันที่ 4 พ.ย. 63 ซึ่งเป็นกรณี กกต. มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรคไทรักธรรม ฐานกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 30

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า การกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 30 ยังมีโทษยุบพรรคด้วย แต่ปัจจุบัน ยังไม่เคยเห็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้แต่อย่างใด ทั้งที่เวลาผ่านมาจะครบปีแล้ว ประกอบกับมีข่าวว่าหัวหน้าพรรคไทรักธรรมเป็น ส.ส. อยู่ด้วย  เรื่องนี้ จึงต้องติดตามทวงถามจาก กกต.ว่า ดำเนินการเพื่อยุบพรรคไทรักธรรมไปแล้วหรือไม่ อย่างไร ถ้ายัง ทำไมจึงล่าช้า ดังนั้นในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ตนจะส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS  ถึง กกต. เพื่อขอให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในกรณีของนายนิพนธ์ บุญญามณี  และกรณีพรรคไทรักธรรม ต่อไป.