เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2568 ตามเวลาของนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยระบุว่า รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คน กลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยทันที เพราะเรามีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในจีน จนเป็นที่ประจักษ์ว่าพวกเขามีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะถูกทรมาน ถูกทำร้าย หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หากถูกส่งกลับ ทั้งที่ตามหลักการห้ามผลักดันกลับ ห้ามไม่ให้มีการส่งตัวหรือเคลื่อนย้าย ไม่ว่าโดยวิธีใดไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงต่อการทรมานหรือการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อีกทั้ง พวกเขาควรได้รับการเข้าถึงกระบวนการลี้ภัย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ เช่น การสนับสนุนทางการแพทย์และจิตสังคมในประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ระบุอีกว่า นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยจัดหาการดูแลทางการแพทย์ที่เพียงพอและครอบคลุมให้กับชาวอุยกูร์โดยเร็ว เนื่องจากมีชาวอุยกูร์ 23 คนในกลุ่ม 48 คนนี้ มีปัญหาสุขภาพอย่างร้ายแรง ทั้งโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง อัมพาตช่วงล่าง โรคผิวหนัง โรคทางเดินอาหารและลำไส้ และภาวะที่เกี่ยวกับหัวใจและปอด จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่พวกเขาจะได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นและเหมาะสม สำหรับชาวอุยกูร์ 48 คนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวอุยกูร์ 350 คนที่ถูกจับกุมในประเทศไทยเมื่อปี 2557 หลังจากที่ข้ามชายแดนประเทศไทยโดยผ่านช่องทางไม่ปกติ เพื่อแสวงหาการคุ้มครองในประเทศไทย มีการกล่าวว่าพวกเขาถูกคุมขังโดยไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้เป็นระยะเวลามากกว่าทศวรรษ โดยไม่สามารถเข้าถึงทนายความ สมาชิกครอบครัว หรือตัวแทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัย (ยูเอ็นซีเอชอาร์)

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ระบุว่า ดังนั้น ขอให้ผู้ถูกคุมขังที่ไม่มีความผิดทางอาญา ต้องถูกคุมขังแยกออกต่างหากและอยู่ในสภาพที่สมกับสถานะ รวมถึงสามารถเข้าถึงตัวแทนทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เพียงพอ อีกทั้งการทบทวนสภาวะการปราศจากอิสรภาพโดยศาลอย่างทันท่วงที การเยียวยาจากการละเมิดใดๆ และความเป็นไปได้ที่จะติดต่อกับทนายที่เขาเลือก ญาติ และการเข้าเยี่ยมโดยองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้มีรายงานว่ามีชาวอุยกูร์ 5 คนเสียชีวิตในสถานที่คุมขังในไทยตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 คน เป็นเด็ก เนื่องจากสภาพการคุมขังที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการไม่สามารถเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่เพียงพอ สามารถทำให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสในสถานที่คุมขังได้

“เราเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และมีการประเมินสถานการณ์แวดล้อมของการจับกุมและสภาวะการถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องของบุคคลกลุ่มนี้ หากพบว่าพวกเขาถูกคุมขังโดยอำเภอใจ หรือในสภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยอนุญาตให้ผู้ต้องกักได้เข้าถึงตัวแทนทางกฎหมายและองค์กรยูเอ็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พวกเขาได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยและจะติดตามสถานการณ์ต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น ระบุ