เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระได้เปิดโอกาสให้ สส. ได้หารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยนายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ เขต 7 พรรคกล้าธรรม หารือในประเด็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เราต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย ประสบวิกฤติสภาพอากาศย่ำแย่ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อทางเดินหายใจของพี่น้องประชาชน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษ PM 2.5 มีหลายปัจจัย ทั้งจากรถยนต์โดยสาร และกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาพื้นที่เพาะปลูกสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะช่วงนี้ ที่เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย จึงส่งผลให้มีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนการเก็บเกี่ยว
นายอัครแสนคีรี กล่าวต่อว่า ตนได้ติดตามการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ทราบว่าหลายหน่วยงานได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหานี้ เช่นการประกาศกฎกระทรวง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคการเกษตร และการถ่ายทอดองค์ความรู้การนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ใบอ้อย มาแปรรูป และส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การอัดใบอ้อย และขายให้โรงงานไฟฟ้า ซึ่งจากที่ตนได้พบปะพี่น้องเกษตรกร ทราบว่าไม่มีใครอยากเผาแปลงเกษตร ยิ่งในปัจจุบันเกษตรกรสามารถขายใบอ้อย ให้โรงงานได้กว่าตันละ 900 บาท ยิ่งเป็นแรงจูงใจ ที่จะช่วยลดการเผา แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการตัดใบอ้อย และบีบอัดก่อนขายให้โรงไฟฟ้า มีกระบวนการที่ต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก และมีราคาสูง เกษตรกรขาดทุนทรัพย์
สส.ชัยภูมิ กล่าวต่อว่า จึงอยากฝากให้รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณ เพื่ออุดหนุน ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการเพาะปลูกอ้อยจำนวนมาก มีงบประมาณ ซื้ออุปกรณ์ เพื่อจัดสรร และบริการให้กับเกษตรกร ขณะที่หน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งประชาสัมพันธ์ ถึงปัญหาของฝุ่นพิษ
“สุดท้ายแล้วการเผาแปลงเกษตร เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การใช้รถใช้ถนนที่มากเกินไปในตัวเมือง รวมถึงการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่เช่นนั้น ภาคการเกษตร จะถูกมองว่าเป็นวายร้าย และอาชีพเกษตรกรจะถูกด้อยค่า ทั้งที่เกษตรกรในชนบทเหล่านี้ เขาก็มีหัวใจเหมือนกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน“ นายอัครแสนคีรี กล่าว.