เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงก่อนเข้าประชุม กมธ. ว่า วาระการประชุมวันนี้ คือการศึกษาและพิจารณาข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม (บ.ย.ส.) ของศาลยุติธรรม เพื่อป้องกันระบบอุปถัมภ์ ซึ่งผู้พิพากษาที่เสนอให้ศาลยุติธรรมยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส. และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาไปร่วมหลักสูตรอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันอย่าง ว.ป.อ. โดยมีข้อกังวลว่า หลักสูตรดังกล่าว ในการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ที่ไปกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา และอาจมีการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงอาจไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนเพียงพอ

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้จึงมีการเชิญผู้เสนอมาร่วมชี้แจงในวันนี้ และเชิญผู้ที่รับผิดชอบหลักสูตรมาด้วย รวมไปถึงนายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการเสนอความเห็นในประเด็นนี้ ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะมาทุกคน แต่รายชื่อของตัวแทน บ.ย.ส. ที่ได้ส่งมาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. กลับส่งหนังสือแจ้งมาเมื่อช่วงเช้าว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้แล้ว ซึ่งวาระในวันนี้ คงพูดคุยกับผู้เสนอเป็นหลักเกี่ยวกับข้อกังวล และข้อสงสัยเพื่อเชิญตัวแทน บ.ย.ส. มาชี้แจง

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามีการพิจารณา ก่อนหน้านี้เคยมีการเชิญตัวแทนของหลักสูตรอื่นๆ มาชี้แจง ซึ่งเวลานั้น ตัวแทนของหลักสูตรอื่นๆ ก็มาชี้แจง แต่ตัวแทนของ บ.ย.ส. ก็ไม่ได้มา โดยหากหลักสูตรเหล่านี้ ถ้านำไปสู่ระบอบอุปถัมภ์ ตนคิดว่าจะส่งผลเสียต่อประเทศได้ และต้องยอมรับว่าปัญหาอันดับต้นๆ ของไทย คือเรื่องระบอบอุปถัมภ์ที่กระทบต่อประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเราพัฒนาได้ โอกาสต่างๆ ของความสามารถ ความพยายาม ไม่ใช่บนพื้นฐานว่าใครรู้จักกับใคร และจะเป็นการส่งเสริมให้คนพัฒนา Know How มากกว่า Know Who และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการทำความรู้จักกับกลุ่มคนที่มีอำนาจ

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ในมุมของการพัฒนาการเมือง ตนคิดว่าถ้าเราอยากให้การเมืองเข้มแข็ง กฎหมายทุกอย่างจะต้องถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องรู้สึกเสียเปรียบกับใคร เพียงเพราะรู้จักใคร ไม่ว่าจะผ่านการคัดเลือกผู้เข้าเรียนมาจากตำแหน่งหน้าที่ ก็มีความเสี่ยงที่อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กัน หากวัฒนธรรมเหล่านี้ ยิ่งส่งเสริมความเป็นรุ่น ความเป็นพี่น้อง ที่อาจไปกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคน ก็เป็นความเสี่ยง ดังนั้น วันนี้ก็มาต่อยอดปีที่แล้ว และขอบคุณผู้พิพากษาทั้งสองคน ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา การมีเสียงสะท้อน และวิจารณ์องค์กร เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลง และการเชิญมาชี้แจงในครั้งถัดไป จะพยายามทำให้รวดเร็วที่สุด

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า หากย้อนไปดูบันทึกการประชุมปีที่แล้ว จะเห็นว่าแม้ว่าทางผู้รับผิดชอบหลักสูตร จะพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของหลักสูตรดังกล่าว แต่ กมธ. เราได้สะท้อนข้อเสนอไปว่า อาจจะไม่ยกเลิก และยังคงอยู่ แต่มีแนวทางการแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้เพิ่มความโปร่งใส และลดความเสี่ยง และเราเคยทำข้อเสนอไปแล้วว่าหากไม่ยกเลิก จะมีการดำเนินการอย่างไร แต่เดี๋ยวขอมารับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการประชุมในวันนี้ ท้ายที่สุดการตัดสินใจคงอยู่ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และจะพยายามสื่อสารข้อเสนอให้รอบด้าน.