“KKP Research” ออกบทวิเคราะห์จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ระบุว่า จากในพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีในการออกคำสั่งหลายอย่างที่ครอบคลุมประเด็นเรื่อง การเนรเทศคนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย การปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การเปิดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการสำรวจน้ำมันและก๊าซ การลดกฎระเบียบ และการหยุดการเผยแพร่กฎระเบียบใหม่ ๆ โดยหน่วยงานรัฐ และการระงับการจ้างพนักงานของรัฐบาลกลาง

แต่หนึ่งในคำสั่งที่ประกาศออกมาและเกี่ยวข้องกับไทยมากที่สุดคือ การออกบันทึกการค้า (Trade memorandum) ซึ่งในเบื้องต้นสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางศึกษาและประเมินสาเหตุการขาดดุลการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายค่าเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อพิจารณานโยบายตอบโต้ โดยเฉพาะกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก

ประเด็นที่อาจจะเข้าข่าย ในกรณีของประเทศไทยคือเรื่องการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐในระดับสูง รวมไปถึงมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ดังนั้น มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ไทยจะเป็นประเทศที่ถูกติดตามโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในสหรัฐ

ในระยะข้างหน้า นโยบายที่ทุกคนจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งมีโอกาสจะสร้างความวุ่นวายต่อเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายของประเทศอื่น ๆ ในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการตีแผ่ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยในแวดวงสาธารณะไปบ้างบางส่วน หลังจากเคยเผชิญเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ 8 ปีที่แล้วแบบไม่ทันตั้งตัว

KKP Research มองว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐ จะหันมาเพ่งเล็งมากขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ มี 5 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1) บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศและส่งสินค้ากลับไปขายผู้บริโภคในสหรัฐ
2) สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐ โดยตรง และส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น
3) ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ขนาดสูง ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม (และอาจจะรวมถึงไทยด้วย)
4) สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ผ่านประเทศที่สาม เพื่อพยายามหลบหลีกภาษีนำเข้า
5) ประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ในอัตราที่สูงไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืออื่นๆ

ในกรณีของไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษีแต่ในมุมมอง KKP research มองว่ามีหลายประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐ คือ

1.การเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ของอาเซียน – ไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดเกินดุลมากที่สุดคิดเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐ ทั้งหมด แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีขนาดเกินดุลกับสหรัฐ มากที่สุดแต่หากสหรัฐ มองไทยและประเทศอื่นในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันทั้งหมดจะพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น

2.สินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยไปยังตลาดสหรัฐ – สินค้ากลุ่มที่สองที่อาจตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐ คือสินค้าที่จีนใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า

3.มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐ – ประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์หาเสียงไว้หลายครั้งคือ นโยบาย Reciprocal Trade Act กล่าวคือหากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐ สหรัฐจะขึ้นภาษีกลับในอัตราที่เท่ากันในสินค้าเหล่านั้น

KKP Research มองว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว เพราะหากดูสัดส่วนการนำเข้าของไทยจะพบว่าไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่สหรัฐส่งออกให้โลก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะส่วนต่างของภาษีนำเข้าที่อยู่ในระดับสูง รวมไปถึงว่าไทยมีการใช้มาตรการปกป้องผู้บริโภคไทยจากสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าจากไทยมีความได้เปรียบกว่าสหรัฐ อย่างไม่เป็นธรรมและใช้เป็นเหตุผลในการขึ้นภาษีกับสินค้าไทยได้

ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกคนคงคาดหวังให้ไทยไม่ตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐ ในประเด็นทางการค้าซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ความหวังไม่ใช่กลยุทธ์ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือเตรียมแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเจรจากับสหรัฐ เช่น สหรัฐ น่าจะต้องการอะไรจากไทย และมีสิ่งใดที่ไทยจะสามารถนำเสนอต่อสหรัฐ และผลกระทบในแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน

บทเรียนสำคัญในทุกการเจรจาข้อตกลงการค้าคือทุกข้อตกลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์อยู่ กรอบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ และจีนควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยไทยในหลายมิติทั้ง ผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ การจ้างงาน และผลต่อผู้บริโภคซึ่งแต่ละกลุ่มอาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้แตกต่างจากสงครามการค้ารอบแรกในปี 2018 อย่างมาก ทั้งเศรษฐกิจที่ซบเซาลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจจีนที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนแต่ก่อน จนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกและไทยจากประเด็นการตีตลาดของสินค้าจีนจำนวนมากและทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนที่อาจไม่กลับมาโตได้ดีเท่าเดิม สถานะที่อ่อนแอลงทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพด้านต่างประเทศทำให้ในวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับมา สงครามการค้าจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อดุลการค้าที่ไทยอาจไม่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ได้มากเท่าในอดีตอีกต่อไป