สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองกลาสโกว์ ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ว่าการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 26 หรือ “คอป26” เปิดฉากอย่างเป็นทางการ ในส่วนของการอภิปรายทั่วไประดับผู้นำโลก ที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ เมื่อวันจันทร์
COP26 will be the world’s moment of truth. pic.twitter.com/3RGHD7liLz
— Boris Johnson (@BorisJohnson) October 31, 2021
ทั้งนี้ การประชุมคอป26 เกิดขึ้นหลังที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ซึ่งอิตาลีเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ปิดฉากการประชุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้มีการบรรลุมติเรียกร้องการดำเนินการ “ที่จริงจังและมีประสิทธิภาพ” แต่ไม่มีการให้รายละเอียดชัดเจน เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “คาร์บอนเป็นศูนย์” หรือเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และการลดการสนับสนุนการใช้พลังงานถ่านหิน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร ในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ตั้งความหวังว่า ประชาคมโลกจะสามารถร่วมกันมีมติที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ “เป็นโอกาสสุดท้าย” ในการกำหนดแนวทางที่เข้มงวดร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
“So let’s come together over these two weeks. And ensure that where Paris promised, Glasgow delivers”
— COP26 (@COP26) October 31, 2021
This morning, COP President @AlokSharma_RDG delivered his speech at the opening of #COP26.
Watch a clip below ?#ClimateAction | #TogetherForOurPlanet pic.twitter.com/c5GayAYeG4
สำหรับผู้ที่จะขึ้นเวทีในวันแรกของการประชุม นอกจากจอห์นสันแล้ว ยังมีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีอิบราฮิม โซลีห์ ผู้นำมัลดีฟส์ และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ไม่เดินทางมาเข้าร่วมด้วยตัวเอง โดยรัฐบาลปักกิ่งใช้วิธีเผยแพร่คำแถลงของสีแบบเป็นลายลักษณ์อักษรแทน ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า เป็นสัญญาณว่า ผู้นำจีนไม่ประสงค์ร่วมเสวนาในประเด็นที่ “เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างชัดเจน” ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ตามด้วยสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู).
เครดิตภาพ : AP