เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 68 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากที่ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนประสบอุทกภัยในวงกว้างทั่วประเทศ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท ไปแล้ว 2 รอบ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 และวันที่ 8 ต.ค. 67 วงเงิน 3,045.51 ล้านบาท และ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 วงเงิน 5,039.79 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบภัย ได้รวบรวมมูลการดำเนินงานแล้วพบว่า ภายหลังที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 แล้ว ยังคงเกิดภัยพิบัติต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 67 ที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงมีครัวเรือนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น และเกินกว่ากรอบวงเงินที่เสนอให้การช่วยเหลือไป 620,022 ครัวเรือน ประกอบกับ จ.ระนอง ได้เกิดมีฝนตกในหลายพื้นที่ มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างวันที่ 3 พ.ย.-31 ธ.ค. 67 รวม 1,136 ครัวเรือน

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ห่วงใยผู้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และได้กำชับให้ ปภ. โดยต่อเนื่อง ให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยให้ครบถ้วน ไม่ให้ประชาชนที่เดือดร้อนตกหล่น ซึ่งตอนนี้ ปภ. ได้รวบรวมข้อมูลแล้วกำลังเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติงบกลางเพิ่มเติม 5,261.04 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท ให้ทั่วถึงและเป็นธรรมต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขอสนับสนุนงบประมาณครั้งนี้ จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย 16 จังหวัดเช่นเดียวกับ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 ได้แก่ จ.ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร สิงห์บุรี กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และ จ.สุราษฎร์ธานี และเพิ่ม จ.ระนอง.