เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงการสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ส่วนใหญ่กองทัพอากาศสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์และอากาศยาน โดยใช้เครื่องบินทางธุรการที่สามารถกระจายเสียงให้ประชาชนรับทราบ ปัจจุบันมีเครื่องบินแบบพีซเมคเกอร์ ในเฟสแรก นอกจากนี้ยังมีดาวเทียมนภา 2 ซึ่งมีความละเอียดค่อนข้างดี และยังมีกล้อง MX15D ที่สามารถติดตั้งกับเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6 และ DA-42 โดยเมื่อได้ภาพมาแล้ว สามารถสกรีนจุดความร้อน และจับจาก 1,000 จุด ให้เหลือ 40-50 จุดได้ ที่ผ่านมาเราก็ใช้วิธีการแบบนี้ ซึ่งภาพที่ได้มีความแม่นยำสูงทำให้สามารถวางแผนในการนำเครื่องบินไปทิ้งสารหรือปล่อยสารสกัดจุดความร้อน ในเส้นทางที่อาจจะลุกลาม ซึ่งเป็นการประหยัด รวดเร็ว และทันท่วงที
ผบ.ทอ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบิน BT-67 ที่ใช้ในการปล่อยสารยับยั้งไฟป่า รวมทั้งมีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังมีเฮลิคอปเตอร์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งมีการฝึกซ้อมร่วมกัน และมีการพัฒนาให้มีความแม่นยำในการยับยั้งไฟป่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
ผบ.ทอ. กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาฝุ่นแบบภาวะฝาชีครอบ จะดำเนินการอย่างไรนั้น จากที่ได้พูดคุยมา จะมีการนำเครื่องบินโรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อจะเจาะรูโดยจะทำที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการพูดคุยกับทาง กทม. แล้ว และมีการเตรียมเครื่องบินสำรองไว้ให้คือ BT-67 และ AU-23 หรือพีซเมคเกอร์ หากมีการร้องขอเมื่อไหร่ ก็สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ ทั้งนี้การบินในพื้นที่ กทม. ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากการจราจรทางอากาศที่คับคั่ง.