เมื่อวันที่ 1 พ.ย.  นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ระบบไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass) ได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเดินทางเข้าประเทศไทย ทางเว็บไซต์ tp.consular.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เวลา 09.00 น. เป็นต้นมานั้นขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วในวันแรก (สถานะถึงเวลา 17.00 น.) กว่า 10,000 คน โดยมีผู้ได้รับอนุมัติแล้วประมาณ 400 คน และมีตัวเลขผู้ลงทะเบียนเพิ่มเรื่อยๆ แม้มีข้อขัดข้องอยู่บ้าง เพราะมีการรบกวนจากบุคคลภายนอก แต่ไม่ส่งผลกระทบในภาพรวม ซึ่งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ได้เข้าไปดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิดแล้ว รวมทั้งได้รวบรวมปัญหาและข้อห่วงกังวลต่างๆ ของผู้ใช้งาน เพื่อนำมาปรับปรุงระบบต่อไป โดยจะมีการปรับปรุงเว็บไซต์ไทยแลนด์ พาส ที่รองรับกับการใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในวันที่ 2 พ.ย.นี้

นายธานี กล่าวอีกว่า ส่วนผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (ซีโออี) ให้เดินทางเข้าไทยรับนโยบายเปิดประเทศนั้น จากข้อมูลของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า มีจำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติซีโออีสำหรับเดินทางเข้าไทยในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. (1-7 พ.ย.2564) ทั้งสิ้น 12,734 คน ซึ่งเฉพาะวันที่ 1 พ.ย.2564 มีผู้ที่ได้รับอนุมัติซีโออี เดินทางเข้าทางอากาศ 3,795 คน จาก 73 เที่ยวบิน ซึ่งแบ่งเป็นคนไทย 1,052 คน และชาวต่างชาติ 2,743 คน โดยเดินทางเข้าประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2,638 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 1,153 คน และท่าอากาศยานดอนเมือง 3 คน

ทั้งนี้หากแบ่งตามสัญชาติ พบว่าสัญชาติที่มีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน 1,520 คน ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา 1,236 คน สหราชอาณาจักร 1,167 คน ญี่ปุ่น 892 คน และรัสเซีย 801 คน  ในแง่ของเมืองต้นทางที่มีผู้เดินทางมายังประเทศไทยมากที่สุด คือ โดฮา สิงคโปร์ ดูไบ เฮลซิงกิ และอาบูดาบี ตามลำดับ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเป็นสัญญาณที่ดีสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศ และจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี

นายธานี กล่าวว่า  ตั้งแต่มีการเริ่มใช้ระบบซีโออี เพื่อคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จนถึงวันที่ 31 ต.ค.2564 กรมการกงสุลได้อนุมัติซีโออี ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 484,142 คน แบ่งเป็นคนไทย 246,743 คน และชาวต่างชาติ 237,299 คน