อ. พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงแผลในปากที่เกิดจากการร้อนในว่า “ร้อนใน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ แผลในปาก เป็นปัญหาที่หลายคนประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ แผลร้อนในไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวันอีกด้วย บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับแผลร้อนใน ตั้งแต่สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่ถูกต้องเพื่อให้คุณสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แผลร้อนใน คืออะไร ?

แผลร้อนในหรือแผลในปาก คือแผลขนาดเล็กตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรถึงขนาดใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร ที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก เช่น บนริมฝีปาก ด้านในของแก้ม ลิ้น หรือใต้เหงือก แผลเหล่านี้มักมีสีขาวหรือสีเหลือง และมีขอบสีแดง เมื่อสัมผัสโดนแผลทำให้เกิดอาการเจ็บและระคายเคืองในปาก เช่น เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แผลร้อนในสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัยและมักหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากแผลไม่หายไปหรือเกิดบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม

ร้อนใน เกิดจาก

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้าไปกระตุ้นจนก่อให้เกิดแผลร้อนในขึ้น ดังนี้

  • พันธุกรรม
  • เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
  • การขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 12 กรดโฟลิก
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างมีประจำเดือน
  • ความเครียดหรือความกังวล
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • อาหารบางชนิดที่มีอาการแพ้
  • จัดฟันหรือมีอุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปาก
  • โรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคโครห์น โรคเบเช็ท เอชไอวี

ร้อนใน อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนใน ในช่องปากโดยทั่วไปจะมีอาการที่คล้ายกัน คือ มีลักษณะบวม แดง และเจ็บบริเวณที่เป็นแผลร้อนใน บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงหรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต

อันตรายที่เกิดจากแผลร้อนใน

แผลร้อนในที่เกิดขึ้นในช่องปากจะสามารถหายเองได้ แต่ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน เนื่องจากมีอาการที่ควรเฝ้าระวัง หากแผลร้อนในมีลักษณะดังนี้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

  • แผลเกิดขึ้นจำนวนมากกว่า 1 จุด และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่แผลเก่ายังไม่หาย
  • แผลมีขนาดใหญ่เกินกว่าปกติหรือลุกลามไปบริเวณอื่น
  • มีแผลร้อนในเกิดขึ้นต่อเนื่องและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนของอาการร้อนใน

หากไม่รักษาแผลร้อนในอย่างถูกวิธี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น แผลที่หายไปแล้วอาจกลับมาอีกครั้ง ความเจ็บปวดเรื้อรังทำให้มีคุณภาพชีวิตลดลง

วิธีการรักษาแผลร้อนใน

แผลร้อนในสามารถหายเองได้ในเวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ช่วงที่มีอาการควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากอ่อน ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก 
  • ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หากอาการรุนแรง
  • จี้ด้วยเคมีหรือไฟฟ้า
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

เกลือ ช่วยให้แผลร้อนในหายเร็วจริงหรือไม่ ?

การอมหรือกลั้วปากด้วยเกลือโดยใช้เกลือ 1 ถึง 2 ช้อนชา ผสมกับน้ำ 1 แก้ว ใช้ในการอมหรือบ้วนปากสามารถช่วยลดการอักเสบได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หากใช้เกลือในปริมาณที่มากเกินไปหรือนำเกลือป้ายบริเวณแผลร้อนในโดยตรง อาจส่งผลให้มีการระคายเคืองบริเวณแผลทำให้แผลหายช้าได้

วิธีป้องกันแผลร้อนใน

  • รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเผ็ดร้อน
  • รับประทานผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

แผลร้อนในเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ด้วยการดูแลรักษาที่ถูกต้องและการป้องกันที่ดี สามารถลดความถี่และความรุนแรงของแผลได้ การรักษาแผลร้อนในด้วยวิธีธรรมชาติอย่างการใช้เกลือ การรักษาความสะอาดในช่องปาก และการดูแลสุขภาพทั่วไปเป็นสิ่งสำคัญ หากแผลไม่หายไปหรือมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและปากที่สุขภาพดีได้อีกครั้ง