เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าถึงการชี้แจงเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่มีการตั้งขึ้นมา ได้เชิญกระทรวงการคลังเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมทุกครั้ง โดยตนได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ครั้งหนึ่ง ซึ่งดีมาก เพราะได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะมิติของกฎหมาย และมีการสอบถามถึงแนวนโยบาย ตนในฐานะกำกับดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่แรก จึงชี้แจงในหลักคิดและแนวทางว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีส่วนประกอบของธุรกิจหลายๆ ประเภท บวกกับกาสิโน เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงาน รวมถึงสามารถกำกับดูแลสิ่งที่เรียกว่าการพนันผิดกฎหมายที่อยู่ด้านนอกได้ด้วย ทั้งหมดคือสิ่งที่ตนได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ นอกจากนี้ ตนได้เสนอว่าขอให้มีตัวแทนของฝ่ายบริหารได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ โดยได้ส่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเข้าไป 2 คน ไปร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง คือ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ และนายฉัตริน จันทร์หอม เพราะเราต้องการให้หลักคิดและแนวคิดของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ยังคงอยู่

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า และได้บอกคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ว่า สิ่งที่สื่อและสังคมยังเข้าใจผิดไปมองเปรียบเทียบว่า เป็นสถานที่เล่นการพนันหรือบ่อนกาสิโนแบบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น ของเราคือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หากเปรียบเทียบเรามองถึงสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เราต้องการเดินหน้าให้เกิดเม็ดเงินลงทุน เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราเคยโตเฉลี่ยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 10% 20 ปีที่แล้วเราโต 5% 10 ปีที่ผ่านมาเหลือ 2% แน่นอนว่าประชาชนคนไทยรอการลืมตาอ้าปาก หากยังเป็นตัวเลขนี้มันเป็นไปไม่ได้ วันนี้รัฐบาลจึงพยายามผลักดันเรื่องเศรษฐกิจจนโตมาถึง 2.7-2.8% ได้ โดยตั้งเป้าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยศักยภาพที่มีอยู่สุดท้ายต้องโตอย่างต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 5% กลไกเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต คนไทยทุกคนจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นได้

เมื่อถามถึงกรณีที่นิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน พบว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กระบวนการที่ดำเนินการมีอยู่ 2 อย่าง คือ กระบวนการทางกฎหมาย ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์มาเรียบร้อย ซึ่งประชาชนเห็นด้วย 80% ส่วนผลโพลที่ออกมาขอให้สื่อมวลชนพูดให้ชัด เขาพูดถึงพนันออนไลน์ ไม่ใช่เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉะนั้นขอให้แยกประเด็น ซึ่งเรื่อง เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นเรื่องการลงทุนและเติมเม็ดเงินใหม่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น มีแหล่งดึงดูดใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นความเห็นคัดค้าน แต่งเชื่อว่าสังคมต้องมีความเห็นที่แตกต่างอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่จะเห็นชอบตรงกันหมด พร้อมกล่าวย้ำว่า ที่ทำโพลออกมาเป็นคนละประเด็นกัน

เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชนเป็นห่วงเรื่องการพนันต่างๆ นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ ครม. เคยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปศึกษา ทั้งเรื่องการพนันออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ ประมาณ 4-5 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับไอทีต่างๆ ซึ่งมีผลศึกษากลับมายังครมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการศึกษาข้อปัญหาเช่นนี้ และส่งมายัง ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบและส่งต่อไปยังกระทรวงดีอี กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปประชุมร่วมกันและยกร่างกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ซึ่งผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ ตนเชื่อว่าน่าจะยังไม่ได้เริ่ม และประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง ก็ยังไม่ได้ไปไหน แต่ก็ต้องรอดูว่าหากประชุมและยกร่างออกมา ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

เมื่อถามว่า ครม. ก็ต้องมีหน้าที่พิจารณาอีกครั้งว่าหากส่งกลับมาแล้วจะเห็นชอบหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ถ้าผ่านก็ต้องดำเนินการต่อไป อาจจะส่งไปยังสภา ขณะนี้ก็ยังมีเวลา และความชัดเจนที่จะต้องรอฟังอีกครั้ง

เมื่อถามว่าทางกฤษฎีกามีข้อทวงจริงหรือข้อเป็นห่วงอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนมากจะมี 2 เรื่องคือ 1.คอนเซปต์ ซึ่งมีการชี้แจงว่าเป็นโมเดลทางธุรกิจ อีกแบบหนึ่งที่ต่างประเทศเขาใช้กัน และชี้แจงว่าเป็นเรื่องของหลายธุรกิจประกอบกัน อาทิสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ประกอบกันและบวกกับกาสิโน ซึ่งนี่คือหลักคิดที่ชัดเจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะธุรกิจบางประเภท อย่างสนามกีฬาหรืออินดอร์ ที่ตนพูดบ่อยๆ หากถามว่ารัฐบาลอยากได้หรือไม่อยากได้ เพราะเราจะได้ดึงนักท่องเที่ยวหรือคอนเสิร์ตระดับโลกมา แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีสถานที่ เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ดึงนักลงทุนในลักษณะนี้ เพราะรัฐบาลมองว่ามันจะช่วยสร้างเม็ดเงินในการเติบโตให้กับประเทศได้ ขณะนี้เป็นแนวหลักในการขับเคลื่อนโดยได้มีการชี้แจงไปแล้ว ส่วนประเด็นของสำนักงานเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย มีหลายข้อเสนอที่น่าสนใจ หมายถึงอย่างไรประเด็นดังกล่าวก็มีความสำคัญ เพราะจะเป็นกลไก ในการขับเคลื่อนโครงการที่มีเม็ดเงินเป็นแสนล้าน จึงมีความจำเป็นที่มีสำนักงาน

ส่วนกรณีที่บางคนกังวลเรื่องทุนจีนสีเทา และการพนันผิดกฎหมาย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีสำนักงานคอยกำกับดูแล เพราะการที่มีคนมาลงทุนในระดับแสนล้าน เขาก็เป็นห่วงธุรกิจ

เมื่อถามย้ำถึงสัดส่วนของกาสิโนจะอยู่ที่ 10% ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มีการหารือว่าจะเขียนหรือไม่เขียน ตั้งแต่การยกร่างของกฎหมาย พร้อมยอมรับว่ามันเขียนยากเนื่องจากไม่ได้มีแค่จุดเดียว เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์สังคม ในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร ความเหมาะสมจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นจะต้องให้อำนาจของ ครม. และคนที่จะมากำกับดูแลในอนาคต มีโอกาสในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง เราคงไม่เขียนกฎหมายหรือไปบังคับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะจะเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นอีกสาเหตุที่เราไม่ได้เขียนในรายละเอียดแนบท้าย ว่ากิจกรรมมีอะไรบ้าง

“สาเหตุที่เราไม่ได้เขียนลิสต์แนบท้าย มีกิจกรรมอะไรบ้าง ซึ่งเราเขียนไว้ 10 อย่าง แต่ข้อที่ 10 คืออื่นๆ เพราะเราเองในฐานะคนเขียนกฎหมาย เราไม่มีจินตนาการบรรเจิดจนคิดได้ทุกอย่าง จึงต้องเปิดโอกาสให้คนที่จะมาเสนอตัวได้คิดว่าจะเสนออะไรให้กับประเทศไทย จะเสนออะไรให้กับรัฐ จะเสนออะไรให้กับสังคม ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจและสังคม”

นายจุลพันธ์ ย้ำว่าข้อ 10 คำว่าอื่นๆ คือการเปิดโอกาส ให้คนที่จะมาได้นำเสนอ แต่สุดท้ายกระบวนการจะต้องโปร่งใส

เมื่อถามว่า การที่ให้เวลาคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปยกร่างรวบรวมความคิดเห็น 50 วัน จะทันการประชุมสภาในสมัยนี้หรือไม่ นายจุลพันธ์ ยอมรับว่ามี และจากที่ได้รับฟังการหารือใน ครม. ก็คิดว่าไม่น่าจะใช้ระยะเวลานานขนาดนั้น และเดินหน้าค่อนข้างเร็ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาประชุมถึงสัปดาห์ละ 2 วัน และถ้าเห็นประโยชน์ร่วมกัน ก็คาดว่าน่าจะราบรื่น ส่วนสุดท้ายสภาจะโหวตให้หรือไม่ตนไม่รู้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ แต่เท่าที่ตนไปออกรายการร่วมกับ สส.พรรคหนึ่ง หลักคิดก็ไม่ได้แตกต่างกัน เขาเพียงห่วงแต่ประเด็นทางสังคมและประเด็นการฟอกเงิน และเชื่อว่าเมื่อถึงขั้นตอน การพิจารณาของ กมธ. มีการร่างและแก้ไขอย่างเต็มที่