เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เสนอโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. โดย น.ส.นันทนา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่คนไทยกำลังเผชิญกับอากาศที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ดัชนีวัดค่าอากาศก็รายงานว่า คน กทม. กำลังจมอยู่กับฝุ่น PM 2.5 สูงเกือบ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ทั้งที่มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับคนทั้งประเทศที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และขณะนี้คนไทยอยู่กันในระดับสีแดงและสีม่วงแล้ว และประเทศไทยติดท็อปเทนด้านอากาศเสียของโลกแทบทุกวัน

“เราจะอยู่กันแบบนี้หรือ คุณภาพชีวิตของคนไทยต้องเผชิญชะตากรรม ด้วยฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไร้เดียงสาเช่นนี้หรือ ทราบหรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศถึง 2.1 ล้านคน ส่วนปีนี้ยังไม่ครบเดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินค่าเสียหายจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท และมีผู้ป่วยจากฝุ่นมฤตยูนี้รวม 1.44 แสนราย เราปล่อยให้รัฐบาลแสดงฝีมือในการบริหารประเทศแบบนี้มาเกือบ 2 ปี นายกฯ ทั้ง 2 ท่าน ไม่มีแผนแม่บทในการจัดการสภาพอากาศอย่างชัดเจน ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มีแต่ออกมาพูดว่า เรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นวาระของชาตินี้หรือชาติหน้า” น.ส.นันทนา กล่าว

น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า การที่ทุกคนกำลังเผชิญกับสภาพที่เลวร้ายนี้ ตนเห็นว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางสุขภาพ ซึ่งเราต้องระดมสมองจากหลายฝ่าย เพื่อหาทางออกให้กับรัฐบาล เพราะลำพังมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาลดูจะตื้นเขิน ฉาบฉวยและปลายเหตุ ทั้งมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ขึ้นรถสาธารณะฟรี ย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าจังหวัดไหนมีการเผา ตนเห็นว่าเป็นเพียงมาตรการชะลอเวลา รอให้พ้นฤดูฝุ่นเท่านั้น เหมือนคนที่เป็นมะเร็ง ให้นั่งสวดมนต์เพ่งพินิจไปที่บทสวดจะได้ลืมความเจ็บปวด สุดท้ายตาย นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบมืออาชีพ เพราะปัญหาแบบนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องร่วมกันทุกกระทรวง อย่ามาแบ่งว่าเป็นกระทรวงของพรรคไหน หากแก้ปัญหาที่มาจากการเผา ก็ต้องยุติการเผาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

น.ส.นันทนา กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยอันดับหนึ่ง เพราะการเผาเกิดจากห่วงโซ่การผลิตของเกษตรกร เผาเมื่อเตรียมปลูกใหม่ เผาเพื่อส่งอ้อย ข้าวโพด เข้าโรงงาน เผาเพื่อทำลายซัง กระทรวงเกษตรฯ ต้องคุมเข้มไม่ให้มีการเผาทุกขั้นตอน ใครเผาขึ้นแบล็กลิสต์ ตัดความช่วยเหลือทุกอย่างจากรัฐ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมต้องควบคุมการหีบอ้อย การผลิตอาหารสัตว์จากข้าวโพดไม่ให้มีการเผาในทุกกรณี หากโรงงานไม่ปฏิบัติตาม ก็ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีการเกี้ยเซียะกัน กระทรวงพาณิชย์ ควบคุมการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร ต้องไม่มาจากการเผาทุกรณี รวมทั้งการซื้อโภคภัณฑ์จากต่างประเทศ ต้องตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าไม่มีที่มาจากการเผาใดๆ กระทรวงมหาดไทยต้องใช้กลไกการปกครองส่วนภูมิภาค ตรวจจับการเผาทุกกรณีและลงโทษทางกฎหมายสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศต้องเจรจากับประเทศในอาเซียน ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน นี่คือตัวอย่างข้อเสนอแนะและแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นฝุ่น PM 2.5

“ประเทศนี้ไม่ใช่ของรัฐบาล เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน หน้าที่ของ สว. คือการตรวจสอบถ่วงดุลและเสนอแนะแนวทางแก่รัฐบาล เพื่อให้บริหารประเทศไปถูกทางแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างถูกจุด จึงขอวิงวอน สว.ทุกท่าน ว่าเห็นแก่ประชาชนที่จ่ายเงินเดือนให้กับเราทุกคน ขอให้รับญัตตินี้ แล้วช่วยกันอภิปรายระดมสมองหาทางอกในวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ส่งต่อไปให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป” น.ส.นันทนา กล่าว

จากนั้นเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่ง สว. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับญัตตินี้ และต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เช่น นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ สว. ลุกขึ้นกล่าวด้วยความอัดอั้นว่า ตนเป็นผู้ประสบภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตนเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของประชาชน ในขณะเดียวกัน ถ้าเราบ่นไปกันเยอะๆ มันทำลายการท่องเที่ยวของตนด้วย ตอนนี้คู่แข่งเขาบอกว่ามาเมืองไทยจะเป็นมะเร็งปอด เพราะฉะนั้น ในความเห็นของตน มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตนเข้าใจและวันนี้ตนก็จะขอมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

“การบ่นร้อยครั้ง ไม่เท่ากับบอกครั้งเดียว วันนี้ดิฉันจะขอบอกการแก้ปัญหามีหลายมิติ แต่ของดิฉัน ตอนนี้เกิดจากดิฉันเป็นผู้ประสบภัยโดยตรง จากการที่รถเมล์ขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตอนนี้มีทั้งหมดเกือบ 3,000 คัน แต่คันที่มีปัญหาคือสีส้มกับสีแดงครีม ทุกสาย 1,560 คัน ตอนนี้วิ่งไปทุกที่ทุกเขตของ กทม. ดิฉันมาจากห้วยขวางถึงรัฐสภา ตามรถควันดำทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนจะกลับบ้านที่พัทยา จะผ่านตรง ขสมก. ต้นสายเลย ตรงศูนย์วัฒนธรรม อยู่ในกับดักของรถเมล์ที่ปล่อยควันดำไม่ต่ำกว่า 3-4 คัน ขนาดเราอยู่ในรถแอร์เย็นๆ เรายังรู้สึกเหม็น รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้น ดิฉันขอแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เราแก้ปัญหาให้ถูกที่คัน ทำให้เป็นรูปธรรม รถควันดำกำจัดได้ก็ให้กำจัด ยกเลิกได้ก็ให้ยกเลิก เพราะอายุแต่ละคันไม่ต่ำกว่า 30 ปี น่าจะปลดประจำการได้แล้ว” นางประทุม กล่าว

ภายหลังการอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอญัตติและนำความเห็นของสมาชิกส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป โดยประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์และมีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นตนเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา รับเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย.