เมื่อวันที่ 27 ม.ค. เฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ภารกิจพิทักษ์รัก! ความหวังแห่งท้องทะเลไทย หลังเจ้าหน้าที่ อช.สิมิลัน บันทึกภาพคู่รักเต่าตนุสร้างรังรัก กลางทะเลอันดามัน
เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ 4 ประจำเกาะหูยง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา ได้บันทึกภาพช่วงเวลาอันแสนพิเศษของเต่าตนุคู่หนึ่ง ขณะกำลังผสมพันธุ์ในน่านน้ำอุทยานฯ สิมิลัน สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่

โดยความน่าสนใจของการผสมพันธุ์เต่าตนุ อยู่ที่พฤติกรรมอันซับซ้อนและน่าทึ่ง โดยเต่าตนุเพศผู้จะแสดงการเกี้ยวพาราสีด้วยการว่ายวนเวียนรอบๆ เต่าตนุเพศเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ หลังจากการผสมพันธุ์ เต่าตนุเพศเมียจะขึ้นมาวางไข่บนชายหาดประมาณ 3-7 รัง หรือบางครั้งอาจมากกว่านั้น แต่ละรังจะมีไข่ประมาณ 100-200 ฟอง และในฤดูผสมพันธุ์ โดยจะใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 45-60 วัน นอกจากนี้ เต่าตนุเพศเมียสามารถผสมพันธุ์กับเต่าตนุเพศผู้ได้มากกว่าหนึ่งตัว ส่งผลให้ลูกเต่าในแต่ละรังอาจมีพ่อคนละตัวกัน ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้แก่ประชากรเต่าตนุ

เต่าตนุ (Green Sea Turtle) เป็นเต่าทะเลขนาดใหญ่ที่พบได้ในน่านน้ำเขตร้อนทั่วโลก อายุขัยในธรรมชาติอาจยืนยาวถึง 80 ปี เต่าตนุถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเต่าตนุตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า สำหรับภัยคุกคามมักมาจากการติดอวนประมง ขยะในทะเล และการสูญเสียแหล่งวางไข่
การพบเห็นการผสมพันธุ์ของเต่าตนุในครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเต่าตนุในน่านน้ำไทย เพราะเต่าตนุเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพทะเลทั้งในด้านคุณภาพของแหล่งหญ้าทะเล และความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหารในทะเล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์และได้รับการคุ้มครอง การพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ จึงสร้างความหวังให้กับการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากของประเทศไทย.
