เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกฯ มีข้อสั่งการเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 ต่อเนื่อง พ.ย. และ ธ.ค. ก่อนเดินทางไปเปรู จนถึงเมืองดาวอส โดยวันนี้ก็ให้แต่ละกระทรวงอธิบายในที่ประชุม ครม. โดยในส่วนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยรับทราบข้อสั่งการ และเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ มีการสั่งห้ามเผา สั่งจัดการวัชพืช ฝังกลบซังข้าวโพด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตำรวจ ทหาร สนธิกำลังกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแก้ปัญหา ซึ่งจากนี้จะเข้าสู่หน้าแล้งด้วย ส่วน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลงพื้นที่เชียงใหม่ในวันที่ 29 ม.ค. จะเดินหน้าเชิงรุกกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช และดำเนินการใช้งบที่ได้จากการประชุม ครม. จ้างอาสาสมัครป้องกันไฟหมู่บ้านในหลายพื้นที่ เริ่มต้นเต็มรูปแบบวันที่ 1 ก.พ.นี้

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่บอกว่ากรมฝนหลวงฯ ไม่ขึ้นบินเพราะไม่มีงบนั้น ไม่เป็นความจริง นั่นเป็นข่าวเก่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ ออกบินอย่างน้อยวันละ 2 รอบ เพื่อลดฝุ่นเจาะชั้นบรรยากาศ ส่วนเที่ยวบินอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ เช่น ส่งเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินปีกบน ปีกล่างเพื่อโปรยสารต่างๆ สำหรับทำฝนหลวงบ้าง ขณะเดียวกัน รมว.อุตสาหกรรมชี้แจงว่า สมาคมไร่อ้อยได้รับซื้อพืชผลทางการเกษตรที่มีการเผาไม่เกิน 25% จากเมื่อก่อนซื้อ 50% และคาดว่าปีนี้จะซื้อต่ำกว่า 15% โดยจะดำเนินการต่อเนื่องในปี 2568-2569

ส่วน รมว.สาธารณสุขได้ชี้แจงว่าได้เปิดศูนย์ให้บริการในพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นควันแล้ว โรงพยาบาลต่างๆ การติดตามการช่วยเหลือประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการแถลงข่าว มีรายละเอียดรายงานผลการประชุม ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ในคราวการประชุมวันที่ 22 ม.ค. 2568 ให้กำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 14(2) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเสนอเขตพื้นที่ต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ระดับ 1. เขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันโรค หรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ระดับ 37.5-75 มคก./ลบ.ม. ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจกหน้ากากอนามัยแก่กลุ่มเปราะบาง จัดเตรียมพื้นที่ห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่น รพ. โรงเรียน ศูนย์รับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

2. พื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ให้ใช้มาตรการตามข้อ 1 อย่างต่อเนื่องและเพิ่มเติมคือให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาปรับรูปแบบการทำงาน โดยให้บุคลากรทำงานนอกสถานที่ตั้ง (เช่น การทำงานจากที่บ้าน) และงดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อใช้ในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด (คกก.จังหวัดฯ) หรือ คกก.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กทม. (คกก.กทม.ฯ) ให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในกรณีที่หากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการสำหรับเขตพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการใช้กลไกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

“ซึ่งเมื่อมีการประกาศเขตฯ ดังกล่าวจะทำให้เอกชนต้องปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะสำหรับเขตพื้นที่นั้น เช่น การหยุดงาน การปิดสถานประกอบการชั่วคราว เป็นต้น โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งแตกต่างจากการที่ ครม. กำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังตามข้อเสนอในเรื่องนี้ที่ไม่มีผลบังคับกับเอกชนโดยตรง”