เมื่อวันที่ 28 ม.ค. เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จัดงานเสวนา “OCA ไทย-กัมพูชา : ข้อเท็จจริงและทางเลือก” เกี่ยวข้องกับบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 ซึ่งมีสส. สว. ผู้แทนจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนร่วมงาน
ทั้งนี้ นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือโอซีเอ ระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นมหากาพย์ที่ยาวนาน เริ่มตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ส่วนเรื่องเอ็มโอยูฯ ปี 2544 เป็นสิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตร ทำให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตตั้งแต่สมัยที่เป็นนายกฯ มาจนถึงวันนี้ สำหรับสว. มีความเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ยกเลิกเอ็มโอยูฯ แต่เรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาดูข้อดีและข้อเสีย แม้หากตั้งคณะเทคนิค ก็ไม่รับประกันว่าจะมีอะไรเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม จึงมีสว.บางส่วนเสนอทางออกว่าควรจะทำประชามติไปพร้อมกับเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ดีหรือไม่ แต่ที่สำคัญอย่าเพิ่งตื่นตระหนกว่าจะเสียพื้นที่ เพราะเป็นการสำรวจแหล่งพลังงาน
ด้านนายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ รองอธิบดีฯ รักษาการอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “กฎหมายระหว่างประเทศและการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา” โดยระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อทั้งสองประเทศประกาศเขตทับกัน จึงเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน โดยทั้งสองประเทศเจรจากันมานานมาแล้ว แต่ไม่คืบหน้า กระทั่งปี 44 เห็นว่าต้องคุยกันให้เรียบร้อย โดยประเทศกัมพูชาขอคุยเรื่องพัฒนาร่วม เพราะเห็นว่าเรื่องเขตแดนน่าจะคุยกันยาก แต่สุดท้ายก็ตกลงกันว่าต้องคุยทั้ง 2 เรื่อง คือทั้งเรื่องเขตแดนและพัฒนาร่วม เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน ก็บันทึกตกลงความเข้าใจร่วมกัน คือ MOU 44 โดยมีข้อตกลง 5 ข้อ อาทิ เราจะแก้ปัญหาด้วยการเจรจา เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปในอ่าวไทย โดยดำเนินการทั้ง 2 ส่วนไปพร้อมกันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตั้งกรรมการร่วมด้านเทคนิค เป็นต้น

ขณะที่นายสรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหัวข้อ “MOU 2544 ในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ” ว่าในหลักการของกฎหมายทะเลกำหนดพื้นที่ไว้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นดินแดน ถือเป็นเขตแดนอำนาจอธิปไตย แต่พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) และไหล่ทวีปตามอนุสัญญากฎหมายทะเล ปี ค.ศ.1982 (UNCLOS 1982) ไม่ใช่เขตอำนาจอธิปไตยของรัฐชายฝั่ง มีเพียงสิทธิอธิปไตยในการสำรวจกำหนดให้เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ครอบกลุ่มการสำรวจและแสวงประโยชน์ทั้งในพื้นที่ที่เป็นห้วงน้ำเหนือพื้นดินท้องทะเล ในพื้นดินใต้ผิวดิน หากเป็นรัฐที่มีชายฝั่งตรงข้ามหรือประชิดกัน จะต้องทำความตกลงบนฐานของกฎหมายของธรรมนูญศาลโลก เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม ซึ่งชายฝั่งตะวันออกของไทยประชิดและตรงข้ามกับกัมพูชา จึงมีหน้าที่ทำความตกลงกัน
นายสรจักร กล่าวอีกว่า แต่ถ้าทำความตกลงโดยยึดเส้นมัธยะอ้างไหล่ทวีปนั้น จะไม่สามารถเจรจากันได้ ดังนั้นในอนุสัญญา 1982 ข้อที่ 74 และ 83(3) ระบุว่าในระหว่างที่ยังไม่บรรลุความตกลง ให้รัฐที่เกี่ยวข้องพยายามทุกวิถีทางด้วยเจตนารมณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมืออันดีระหว่างกันจัดทำความตกลงชั่วคราว ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้และในช่วงเวลานั้นจะพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ทำให้เสื่อมเสียหรือขัดขวางความตกลงสุดท้าย และความตกลงชั่วคราวนี้จะไม่มีผลกระทบเสื่อมเสียต่อการกำหนดขอบเขตขั้นสุดท้าย ทั้งนี้เห็นว่าเอ็มโอยู ปี 2544 ทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ถือเป็นสัญญาระหว่างไทยกับกัมพูชา หากจะยกเลิกทั้งสองประเทศจะต้องเห็นพ้องกัน และไม่ได้ทำให้สิทธิของฝ่ายใด หายไปหรือมีมากขึ้น

ส่วนแผนที่แนบท้ายเอ็มโอยูฯ ปี 2544 นั้น นายสรจักร กล่าวว่า เส้นที่ขีดเหนือเส้นรุ้งที่ 11 ต้องแบ่งเขตกันให้ได้ เพราะเรายอมไม่ได้ เนื่องจากเกาะกูดต้องมีทะเลในเขตของตัวเอง และกฎหมายทะเลกำหนดว่า ทุกเกาะที่มีชีวิตทางเศรษฐกิจได้ ต้องมีไหล่ทวีปของตัวเอง ดังนั้นเส้นของกัมพูชาที่ลากผ่านเกาะกูด จะต้องดันลงมาข้างล่างอีกเยอะ เรารับไม่ได้ที่จะขึ้นโด่เด่อยู่ข้างบน ซึ่งต้องดันเฉียงลงมาข้างล่างให้ได้ เพราะฉะนั้นเขตพื้นที่ เหนือเส้นรุ้งที่ 11 ต้องเจรจาให้สำเร็จ ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ ส่วนใต้ลงมา ค่อยมาคุยกันเรื่องของพื้นที่พัฒนาร่วม (เจดีเอ) จะทำอันหนึ่งอันใดก่อนก็ไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นนัยของเอ็มโอยูฯ ปี 2544
นายสรจักร กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าเอ็มโอยูฯ ปี 2544 ดีหรือไม่ดี แต่เป็นนัยของกฎหมาย และแม้ว่าเรามีเอ็มโอยูฯ ปี 2544 ประเด็นสำคัญที่สุดคือคณะกรรมการที่เราจะตั้งขึ้นมา จะไปเจรจาอะไร สิ่งที่เจรจาโปร่งใสหรือไม่ มีอะไรยัดไว้ใต้โต๊ะ มีอะไรอยู่หลังกอไผ่ มีผลประโยชน์ใครเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ต้องเจรจา เพราะกฎหมายบอกให้เราเจรจา และขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเสียดินแดน และขออย่าพูดเรื่องการเสียดินแดน เพราะเราไม่ได้รับดินแดน เรามีสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวหัวข้อ “อนาคตความมั่นคงทางพลังงานจากอ่าวไทย” ว่า จากการสำรวจไทยพบก๊าซมากกว่าน้ำมัน ปริมาณสำรวจก๊าซในอ่าวไทยลดลงถึงขั้นวิกฤติ และเชื่อว่าในพื้นที่อ้างสิทธิหากสำรวจจะพบปิโตรเลียมสูง อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติผูกพันกับน้ำมันดิบ ขณะที่อ่าวไทยก๊าซธรรมชาติผูกพันกับน้ำมันเตา ซึ่งราคาถูกที่สุด ดังนั้นการนำเข้าก๊าซหากมีการผันผวนก็จะสัมพันธ์กับค่าไฟฟ้า ถ้าไม่แสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศมีความเสี่ยงเรื่องค่าไฟ ยืนยัน MOU 44 เป็นกรอบที่ดี การยกเลิกจะทำให้บรรยากาศไม่ค่อยดี และไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ ที่สำคัญตนเป็นห่วงถ้ายกเลิก MOU 44 จะเข้าทางคนที่ไม่อยากแบ่งเขต แต่อยากแค่แบ่งผลประโยชน์ทางทะเลอย่างเดียว
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสว. กล่าวในหัวข้อ “มุมมองต่อ MOU 2544” ว่า เอ็มโอยูฯ ปี 2544 มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อเสีย คือกรณีที่ไทยและกัมพูชาเกิดประเด็นขึ้นมา เริ่มต้นจากการประกาศกฤษฎีกาของกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งกำหนดเส้นเขตแดนไหล่ทวีปที่มีความแตกต่างมากจากของไทยที่ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยไทยใช้เส้นมัธยะจากเส้นกึ่งกลางทะเล ในเมื่อแตกต่างกันมาก จึงทำให้คุยกันได้ยาก ตนเรียกว่าเส้นของกัมพูชาว่าเป็นเส้น “เถยจิต” ซึ่งคำนี้แปลว่าความคิดที่จะขโมย คิดอย่างโจรตั้งใจที่จะลักทรัพย์ ลักขโมย เพราะกัมพูชาจงใจบิดเบือนด้วยการลากเส้นเล็งห่างหลักเขตแดนจากเขาสูงสุดมายังเกาะกูด เป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลที่รุกล้ำ ผ่ากลางเกาะกูดที่เป็นอธิปไตยของไทย ละเมิดอาณาเขตทางทะเลดินแดนเกาะกูด จึงทำให้ฝ่ายที่เห็นต่าง มองว่าเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2515 จึงเป็นการเต้าเรื่องและเคลมขึ้นมา จนสร้างเรื่องมหาศาล

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ในเมื่อมีการนำเส้นที่อีกฝ่ายอ้างสิทธิมาเข้าเกี่ยวข้อง จึงทำให้ถูกมองได้ว่าไทยยอมรับเส้นนั้นมาเป็นฐานในการเจรจาได้ ต่างฝ่ายต่างยอมรับของการมีอยู่ของเส้นอ้างสิทธิ กัมพูชาอาจใช้อ้างได้ว่าเขาประสบความสำเร็จที่ทำให้ไทยยอมรับ หรือฝ่ายไทยอาจจะอ้างได้ว่าเราทำสำเร็จที่ทำให้กัมพูชายอมรับเส้นที่เราอ้าง แต่ตนขอถามว่านี่เป็นความสำเร็จทิพย์หรือสำเร็จแท้ จึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายเห็นต่างค่อนข้างไม่เห็นด้วยต่อเอ็มโอยูฯ ปี 2544 ทั้งนี้กรณีดังกล่าวอาจถือว่ามีความคล้ายกับเอ็มโอยูระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 ซึ่งมีผลต่อกรณีปราสาทพระวิหาร โดยทำให้ฝ่ายกัมพูชาใช้อ้าง และทำให้ไทยเจ็บปวดมาแล้ว
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนข้อดีของเอ็มโอยูฯ ปี 2544 เป็นนวัตกรรมที่มาจากการที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยินยอมให้มีการเสียดินแดน ทำให้ต้องมีการเจรจากันทั้งเรื่องการแบ่งเขตแดนและแบ่งปันผลประโยชน์ แต่เอ็มโอยูฯ ปี 2544 มีอายุ 24 ปีแล้ว เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงฯหวังว่าจะสำเร็จ แต่มาถึงขณะนี้ก็ยังไม่สำเร็จ และจากนี้ไปมีหลายสิ่งที่ยิ่งทำให้ยากประสบความสำเร็จ แม้ยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ด้านนายอังกูร กุลวานิช รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าวว่า กรณีไม่มีพื้นที่ทับซ้อน เพราะเป็นเรื่องการที่กัมพูชาอ้างสิทธิไหล่ทวีปที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2515 และไทยประกาศอ้างสิทธิของเราในปี 2516 จึงถือว่าเราไม่ได้ยอมรับ เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ และการที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธินั้นผูกพันเฉพาะประเทศผู้ประกาศ ไม่ได้ผูกพันอีกประเทศ สิ่งที่กัมพูชาประกาศ ไทยถือว่าไม่ถูกต้อง เราจึงต้องประกาศเส้นของเรา เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้าง จึงต้องมาคุยกันอย่างสันติวิธี และเอ็มโอยูเป็นตัวกำหนดให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปเจรจา สำหรับเส้นที่ปรากฏในเอ็มโอยูฯ เป็นเพียงแผนผังที่กำหนดว่าแต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอย่างไร แต่ไม่ใช่แผนที่ และไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของอีกฝ่าย นอกจากนี้ พื้นที่พัฒนาร่วม ก็ยังไม่มีกำหนด ที่สำคัญ ไม่ขัดพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2516 เพราะพระบรมราชโองการฉบับดังกล่าวระบุว่าเส้นกำหนดทะเลอาณาเขตของประเทศใกล้เคียงกันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปจะเป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน แต่ตอนนี้ทั้ง 2 ประเทศยังไม่ได้ตกลงกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังทำหน้าที่อยู่ในการปกปักรักษาอธิปไตยของไทย และเอ็มโอยูฯไม่ได้ทำให้เสียเกาะกูด เมื่อต่างฝ่ายต่างบอกว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องมาพูดคุยตกลงกัน ส่วนข้ออ้างที่ว่าเอ็มโอยูนี้ทำไมไม่เข้ารัฐสภา เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ได้กำหนดให้สิ่งนี้ต้องเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา