เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฏร ได้กล่าวในการแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมทางวิชาการ เรื่อง เตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2568 จัดโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai – PAN ว่า เห็นข่าวทางการจีนสั่งระงับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทย สาเหตุเพราะตรวจสอบพบสารแคดเมียมปนเปื้อน (บางสวนที่จัดส่งโดยล้ง) เมื่อมองในมุมของผู้บริโภค ต้องชื่นชมหน่วยตรวจสอบของทางการจีนในด้านการเฝ้าระวัง เตือนภัย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญใน “นโยบายอาหารปลอดภัย” (Food  Safety) ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภคมากกว่าธุรกิจการค้า ในทางตรงกันข้ามกับทางการไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ไม่ทันการณ์ ปล่อยปละละเลยให้คนไทย “ตายผ่อนส่ง” จากการบริโภคผัก ผลไม้ ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานมาช้านาน ทั้งจากที่ผลิตภายในประเทศ ก็ไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้ ทั้งจากที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ไม่มีห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บตามด่านสำคัญในการสุ่มตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการสุ่มตรวจผัก ผลไม้ต้องส่งตัวอย่างไปยังส่วนกลาง ซึ่งเวลาและสถานการณ์สวนทางกับความเป็นจริง เพราะผัก ผลไม้ เป็นของสดจึงไม่แปลกใจที่การสุ่มตรวจไม่ได้มาตรฐาน  ไม่มีประสิทธิภาพ คนไทยจึงมีอัตราการตายสูงสุดด้วย “โรคมะเร็ง” มาหลายสิบปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานสะสมทุกวัน ๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการก่อ “โรคมะเร็ง”
    
นายชวลิต ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่า ต้องปฏิรูประบบการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้เกินค่ามาตรฐาน เพื่อสร้างระบบอาหารปลอดภัย (Food Safety) ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ให้มีเอกภาพ และสนับสนุนงบประมาณให้มีห้อง Lab ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสำหรับการสุ่มตรวจผัก ผลไม้ที่ผลิตภายในประเทศ และที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างระบบเฝ้าระวัง แจ้งเตือนแก่ผู้บริโภค เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับองค์กรภาคประชาสังคมและท้องถิ่น เป็นกรณีเร่งด่วน
   
เป็นที่น่าเสียดายว่านับจากปี 2562 ถึงปัจจุบัน งานระบบตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันเป็นงานสำคัญของระบบอาหารปลอดภัย (Food Safety) คืบหน้าน้อยมาก ทั้งที่เป็นงานสำคัญในการ “ป้องกัน” การเจ็บป่วยของประชาชน ซึ่งทำให้เสียงบประมาณจำนวนมากในการ “รักษา” ผู้เจ็บป่วย ทั้งงบประมาณของทางราชการ และงบส่วนตัวของครอบครัวผู้เจ็บป่วย
  
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะการปฏิรูปงานระบบตรวจสอบ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว เป็นหมุดหมายสำคัญทางนโยบายที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยได้ให้ความสำคัญกำหนดเป็นนโยบายของพรรคข้อหนึ่งในอันที่จะแก้ไขปัญหา “การตายผ่อนส่ง” ของประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติประเทศไทยจะเป็น “ครัวของโลก” ที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าผัก ผลไม้ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน
    
นายชวลิต ได้แจ้งข้อน่ากังวลถึงภัยจากสารเคมี “ไกลโฟเซต” หรือ “ยาฆ่าหญ้า” กำลังจะหวนกลับมาทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากถูก “ควบคุมจำกัดการใช้” ตามข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2562 ที่ได้แบนพาราควอต คลอไพริฟอส และควบคุมจำกัดการใช้ ไกลโฟเซต จำนวนการนำเข้า “ไกลโฟเซต” ณ ปี 2563-2564 ลดลงจาก 25 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหลือเพียง 12 ล้านกิโลกรัมเศษต่อปี แต่ ณ ปัจจุบัน สิ้นปี 2566 มีการนำเข้าสารเคมี “ไกลโฟเซต” กว่า 28 ล้านกิโลกรัม นับว่าการนำเข้าเติบโตอย่างก้าวกระโดดน่าตกใจยิ่งกว่านั้น มีข้อกังวลที่ต้องถามอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่ามีนโยบายควบคุมจำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต” อย่างไร ถึงอนุญาตให้มีการโฆษณาจำหน่ายทางออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง เพราะการอนุญาตให้จำหน่าย “ไกลโฟเซต” หรือ “ยาฆ่าหญ้า” โดยไร้การควบคุมเช่นในอดีต ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงต่อสุขภาพอนามัยประชาชน ที่สำคัญ สิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นที่อาศ้ยของ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด ซึ่งเป็นอาหารของชาวชนบท ที่เริ่มฟื้นฟูกลับมาตามธรรมชาติ ก็จะกลับสูญหายไปอีกจากสารเคมียาฆ่าหญ้าที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จึงหวังที่จะเห็นรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารต้องรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยรีบด่วนที่สุด