พิพิธภัณฑ์อีสต์ ซีแลนด์ แห่งเดนมาร์ก แถลงข่าวกรณี ปีเตอร์ เบนนิกเก นักล่าฟอสซิลชาวท้องถิ่นในเดนมาร์ก ค้นพบฟอสซิลก้อนอาเจียนที่หน้าผาสเตเวนส์ แหล่งธรณีวิทยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก บนเกาะซีแลนด์ของเดนมาร์ก ซึ่งประกอบด้วยหน้าผาริมชายฝั่งที่อุดมไปด้วยฟอสซิลยาวประมาณ 9 ไมล์ (ราว 14.4 กม.)
ทางการเดนมาร์ก กล่าวว่า ฟอสซิลอายุ 66 ล้านปีดังกล่าว เป็นของสัตว์ชนิดหนึ่ง และในกองอาเจียนนั้นมีซากพลับพลึงทะเลหรือสัตว์ทะเลประเภทไครนอยด์อยู่ด้วย จอห์น จักท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลับพลึงทะเลชาวดัตช์ สรุปว่า กองอาเจียนนี้มีพลับพลึงทะเล 2 สายพันธุ์ รวมอยู่ด้วยกันเป็นก้อน โดยสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ถูกสัตว์อีกชนิดหนึ่งกินเข้าไป แล้วต่อมาก็สำรอกเอาชิ้นกระดูกซึ่งเป็นส่วนที่ย่อยไม่ได้ของพวกมันออกมา
เจสเปอร์ มิลาน นักบรรพชีวินวิทยาชาวเดนมาร์ก และภัณฑารักษ์ธรณีวิทยาที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเมืองฟากซ์ กล่าวในข่าวเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนว่า นี่เป็นการค้นพบที่แปลกมาก เดิมพลับพลึงทะเลไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการมากนัก เนื่องจากหลัก ๆ แล้ว ร่างกายของมันคือแผ่นหินปูนที่มีชิ้นส่วนอวัยวะที่นิ่มยึดติดไว้ด้วยกัน

มิลานคาดว่า ปลาคงจะกินพลับพลึงทะเลที่อาศัยอยู่ที่ก้นทะเลยุคครีเทเชียสเข้าไป ซึ่งตามข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ระบุว่า เป็นอาณาเขตทะเลที่แคบและตื้น เชื่อมระหว่างอ่าวเม็กซิโกในและมหาสมุทรอาร์กติกในปัจจุบัน
มิลานกล่าวว่า การค้นพบอาเจียนดังกล่าว ให้ความรู้ใหม่และสำคัญมาก เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อ รวมถึงห่วงโซ่อาหารในทะเลยุคครีเทเชียส
ตามข้อมูลของยูเนสโก หน้าผาสเตเวนส์ มี “หลักฐานชั้นพิเศษของผลกระทบจากอุกกาบาตชิกซูลุบที่พุ่งชนโลกเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน” ซึ่งเชื่อกันโดยทั่วไปว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ส่วนพลับพลึงทะเลหรือไครนอยด์นั้น มีความหลากหลายของสายพันธุ์ลดน้อยลง นับตั้งแต่พลับพลึงทะเลมีจำนวนมากขึ้นเมื่อประมาณ 300 ล้านปีก่อน อย่างไรก็ตาม มีสายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 650 สายพันธุ์ และยังคงมีอยู่มากมายในแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลายแห่ง ตั้งแต่แนวปะการังตื้นไปจนถึงร่องลึกใต้ทะเล ตามข้อมูลของสำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งสหรัฐ
ทางการเดนมาร์กจัดฟอสซิลกองอาเจียนนี้ให้เป็น “Danekræ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของวัตถุของประเทศที่ “มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ธรรมชาติอันโดดเด่น” ซึ่งหมายความว่าฟอสซิลอาเจียนของปลาชิ้นนี้ เป็นสมบัติของชาติเดนมาร์ก ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของเบนนิกเก ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ ซึ่งต้องส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
ฟอสซิลซากอาเจียนจะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษขนาดเล็กที่พิพิธภัณฑ์ธรณีเมืองฟากซ์ ประเทศเดนมาร์ก ในช่วงวันหยุดฤดูหนาว เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม “กองอาเจียนที่โด่งดังที่สุดในโลก” ตามที่มิลานเรียก
ที่มา : usatoday.com
เครดิตภาพ : Museum of East Zealand