ในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของประชาชนรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอล สมาร์ทโฟน และอินเตอร์เน็ตโมบายแบงก์กิ้ง ได้รับความนิยมมากขึ้น ขบวนการมิจฉาชีพก็อาศัยเทคโนโลยียุคใหม่มาปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่สร้างความเสียหายมหาศาล

หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการหลอกลวงโดยแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์เป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการเงินและการสื่อสารของประเทศ โดยการสวมรอยหรือแอบอ้างสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลที่มีอำนาจอื่นๆ หรือเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ใช้วิธีที่ซับซ้อน อุปโลกน์เรื่องราวล่อลวงให้อีกฝ่ายเป็นเหยื่อหลงเชื่อ และโอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่รู้จัก

ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้ประชาชนสูญเสียเงินมหาศาล แต่ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากวิตกกังวลต่อชีวิตและความปลอดภัย

หน่วยงานภาครัฐพยายามปราบปรามอย่างไร แต่ก็ยังไล่ตามไม่ทันมิจฉาชีพที่อาละวาดแทบทุกวงการ ตั้งแต่ชาวบ้านตาดำๆ ไปจนถึงศิลปินดารา นักการเมือง รัฐมนตรี แม้กระทั่งผู้นำประเทศ อย่างเช่น กรณีที่ “แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดนมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยี AI ปลอมเสียงของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลอกลวงให้โอนบริจาคเงิน แต่โชคดีที่“นายกฯอิ๊งค์” ไหวตัวทัน จึงรอดพ้นมาได้

ปัญหานี้จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งต้องพยายามเสาะแสวงหาวิธีต่างๆ ในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรม พร้อมกับช่วยเหลือประชาชน ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 28 ม.ค.2568 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอพระราชกำหนด (...) ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ..2568 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.ฉบับเดิมที่คลอดเมื่อปีพ.ศ.2566

สาระสำคัญในพ.ร.ก.ฉบับใหม่ มีทั้งการกำหนดให้สถาบันการเงินและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องจ่ายเงินเยียวยา ผู้เสียหาย และให้บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทันที รวมถึงธนาคารต้องส่งข้อมูลบัญชีม้าไปให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปป

.) ตรวจสอบและเร่งคืนเงินแก่ผู้เสียหาย เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งโทษปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาท และจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

แม้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลฯ ยืนยันว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้จะสามารถป้องกันและปราบปรามได้มากขึ้น คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนก.พ.นี้ แต่ยังเสียงสะท้อนและคำถามมากมายจากหลายฝ่ายว่ารัฐบาลออกกฎหมายเช่นนี้ช้าไปหรือไม่ เพราะเหล่าอาชญากรยังปรับตัวหลบเลี่ยงการจับกุมได้อย่างรวดเร็ว และมีเครือข่ายหรือฐานปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งทำให้การกวาดล้างยังมีความยากลำบาก

หลังจากออกกฎหมายใหม่ติดดาบแล้ว รัฐบาลและทุกหน่วยงานต้องพิสูจน์ฝีมือบังคับใช้ปราบปรามอย่างจริงจังและเกิดผลจริง หมดเวลาเป็นอัศวินม้าไม้ได้แล้ว