ถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) 47 จังหวัดทั่วประเทศ  วันที่ 1 ก.พ.นี้ ต้องรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ์กันมากๆ อบจ.เที่ยวนี้คึกคักเป็นพิเศษ เพราะเราเห็นภาพพรรคการเมืองใหญ่เปิดหน้าเล่นชัดเจน โดยพรรคเพื่อไทย มี “อดีตนายกฯแม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร ลงมาเล่นเอง  ส่วน พรรคประชาชน ปชน.) ที่ตัวใหญ่ๆ ในพรรคกระจายกำลังสู้หาเสียง  ก็น่าสนใจว่าการเมืองใหญ่จะเจาะฐานเล็กลงอย่างชัดเจนเรื่อย ๆ ในหลายพื้นที่ก็รู้ว่า อบต.หรือนายกเทศมนตรีเป็น“ขั้วไหน” การเมืองใหญ่เจาะพื้นที่เล็ก เพราะท้องถิ่นก็มีสภาพเป็น “หัวคะแนน” ของการเมืองใหญ่อยู่กลายๆ เข้าถึงประชาชนได้ง่ายด้วย ตอนนี้ “อดีตนายกฯแม้ว” ก็ชูเรื่องท้องถิ่นคือฐานรากที่เป็นหัวใจการพัฒนา ในการหาเสียง อบจ.

อีกทั้งรายได้จัดเก็บเองของท้องถิ่นก็มาก อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีบำรุง อบจ.จากสถานค้ายาสูบ ภาษีบำรุง อบจ./ กทม.จากถานค้าน้ำมัน อากรฆ่าสัตว์ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอะไรต่างๆ บางท้องถิ่นเก็บได้เยอะมาก ใช้ไม่หมดก็เป็น “เงินสะสม” ไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีช่วงเหตุการณ์โควิด-19 ที่ใช้งบท้องถิ่นซื้อวัคซีนส่วนหนึ่ง เป็นต้น 

พรรคเพื่อไทย เปิดหน้าจะบุกท้องถิ่นแล้ว  ล่าสุด พรรคภูมิใจไทย(ภท.) นำโดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.ก็สู้ ประกาศยกร่าง“กฎหมายบ้านเกิดเมืองนอน” โดยเริ่มสร้างการรับรู้ว่า “ท้องถิ่นไม่สามารถเลือกโครงการต่างๆ ที่สำคัญกับประชาชนได้จริงๆ เพราะสุดท้ายอยู่ที่ส่วนกลางเป็นคนเลือก กฎหมายฉบับนี้จะออกมาแก้ปัญหา” 

เลขาฯนก”นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ได้รับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย อยากให้พรรคได้มีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้น จึงเลือกวิธีทำเวิร์คชอปที่ได้ข้อสรุปคือ การพัฒนาต้องใช้งบประมาณ ต้องมีลักษณะ 3 อย่างคือ  “งบเพียงพอ  – งบไม่มีการผูกมัด – มีผู้บริหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพ มีความสามารถ” 

พรรคภูมิใจไทย” ได้ทำสื่อนำเสนอว่า “ไม่ควรให้ปัญหาเพดานการดำรงตำแหน่ง มาเป็นอุปสรรคที่ท้องถิ่นจะทำโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการระยะยาว” พรรคภูมิใจไทย จึงเสนอให้ยกเลิกเพดานการดำรงตำแหน่ง สมัย โดยจะไปต่อได้สมัยที่ 3 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) คนไหน และแก้ไขกฎหมายให้บุคคลที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป มาเป็นหนึ่งในตัวเลือกในการสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเป็นโอกาสและความหลากหลาย …ซึ่งประเด็นนี้ก็น่าสนใจในแง่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้กลับมาทำงานท้องถิ่นตั้งแต่เรียนจบได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีมุมที่มองได้ว่า “เป็นสนามฝึกของ ลูก หลาน บ้านใหญ่

หัวใจสำคัญของกฎหมายบ้านเกิดเมืองนอน คือ “การให้อำนาจผู้เสียภาษีสามารถกรอกได้ว่า จะจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นไหนเท่าไร” การขายนโยบายนี้ “เลขาฯนก” บอกว่า “หวังว่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณของประเทศไม่มากก็น้อย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นของผู้บริหารทุกคน” 

ตรงนี้ถือเป็นแนวคิดที่ดึงคะแนนนิยมได้ กับการสร้างภาพฝัน “การเลือกอนาคต เลือกการพัฒนาด้วยตัวเอง” ถ้ายึดตามคำ “อดีตนายกฯแม้ว” มาปรับอธิบาย คือ เมื่อการพัฒนาต้องใช้ท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นก็ต้องเพิ่มอำนาจคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณ ไปจนถึงการออกแบบโครงการพัฒนามากขึ้น ด้วยกฎหมายนี้

นอกจากงบท้องถิ่น ตามร่างกฎหมายจะบริหารจัดการเงิน ร้อยละ 30 ที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้ตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พ.ศ.2548 ได้ด้วย จากนี้ก็ต้องดูการรณรงค์และเสียงขานรับ ตอบคำถามโดยเฉพาะเรื่องที่ว่า หากให้จัดการงบจากรัฐบาลกลางเอง จะเบียดบังงบสวัสดิการที่ต้องได้รับการอุดหนุนหรือไม่?  ท้องถิ่นมีศักยภาพพอทำโครงการใหญ่จริงหรือไม่?

กฎหมายนี้เป็นไอเดียที่ “ภูมิใจไทย” ใช้บุกซื้อใจท้องถิ่น หลายคนคงอยากให้ผ่านไม่ยึกยักแบบกัญชา!!