นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝาก สนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยที่มีกระบวนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตามมาตรฐานสากล ได้รับโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ มีสภาพคล่องสูงขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก 

ประกอบด้วย 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 15,000 ล้านบาท ได้แก่ บัตรเงินฝากสีขาววงเงิน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 อายุ คือ ระยะเวลา 3 เดือน ดอกเบี้ย 2.15% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน ดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี และระยะเวลา 12 เดือน ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี ต่อมาเป็นสินเชื่อ เอ็กซิมเงินทุนสีขาว 3 โครงการ รวม 10,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเริ่มต้นเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันได้วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.60% ใน 6 เดือนแรก  

สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วม แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้มาตรฐาน 1 ดาว และอยู่ระหว่างการขอรับรองเป็น 2 ดาว หรืออยู่ระหว่างการขอรับรองไอเอสโอ ได้รับสินเชื่ออเนกประสงค์ หรือเพื่อการลงทุน ดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 4.75% ในปีแรก วงเงิน 50 ล้านบาท ผ่อนนาน 5 ปี และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน 2 ดาว หรือ3 ดาว ตลอดจนได้รับการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 37001 โดยได้เงินทุนเพื่อใช้ในกิจการสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรก 3.75% ผ่อนนานสุด 7 ปี

“ปัจจุบัน ภาคธุรกิจประเทศไทยมีความต้องการแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวกับอีเอสจี ทั้งสินเชื่อสีขาวด้านธรรมาภิบาล รวมถึงสินเชื่อสีเขียวและสีน้ำเงินที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม 5-7ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้เพิ่งมีแหล่งเงินเข้าสนับสนุนได้เพียง 4 แสนล้านบาท ดังนั้นยังมีความต้องการสินเชื่อกลุ่มนี้อยู่มาก ซึ่งธนาคารจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือในทุกด้าน  พร้อมกับตั้งเป้าหมายมีบริษัทเข้าร่วมการต่อต้านทุจริตเพิ่มจาก 1,000 รายเป็น 300,000 รายใน 10 ปี”

ด้านนายสาโรจน์  พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีมาตรการและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต โดยเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจที่ออกโดยภาครัฐ เช่น มาตรการทางภาษี การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ  เพื่อส่งเสริม ให้ภาคเอกชนมีมาตรการและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตที่ออกโดยภาครัฐมากยิ่งขึ้น