อาการมือชา เท้าชา แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย เกิดแค่ชั่วคราว แต่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณแจ้งเตือนปัญหาสุขภาพภายในร่างกาย จึงเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจและหาทางป้องกัน
มีเกร็ดความรู้จากโรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ บอกเล่าเกี่ยวกับสาเหตุอาการที่ว่านี้ พร้อมคำแนะนำวิธีดูแลและการป้องกันอาการที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง
@ สูญเสียการรับรู้ความรู้สึก : เส้นประสาทที่เสื่อมสภาพอาจทำให้คุณไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา
@ กล้ามเนื้ออ่อนแรง : หากเส้นประสาทถูกกดทับนานๆ กล้ามเนื้ออาจอ่อนแรงลง จนทำให้การเคลื่อนไหวของแขนหรือขาแย่ลง และอาจนำไปสู่ความพิการ
@ เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง : โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวาน แผลเล็กๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่จนต้องตัดอวัยวะ เพื่อหยุดการติดเชื้อ
@ โรคร้ายแรงซ่อนอยู่ : อาการชาที่ไม่สามารถอธิบายได้ อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคร้ายแรงในระบบประสาท ที่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดความพิการถาวร

‘มือชา-เท้าชา’ เกิดจากอะไร
อาการชามักเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้การส่งสัญญาณประสาทถูกรบกวน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงที่เส้นประสาทที่ถูกกดทับอยู่ จนทำให้เรารู้สึกชา ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. การกดทับเส้นประสาท : การกดทับเส้นประสาทเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในกรณีที่เรานั่งหรือนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือบางครั้งอาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้างร่างกาย เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่คอหรือหลัง ส่งผลให้เกิดอาการชาที่มือหรือเท้าตามมาได้
2. ร่างกายขาดวิตามินบี 12 : วิตามินบี12 มีบทบาทสำคัญในการบำรุงระบบประสาท หากร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้ อาจทำให้เกิดอาการชาได้ เนื่องจากเส้นประสาทไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ อาจจำเป็นต้องเสริมวิตามินเพื่อป้องกันอาการชา
3. โรคเบาหวาน : ผู้ที่มีโรคเบาหวานมักมีอาการชาที่มือและเท้า เนื่องจากการทำลายเส้นประสาทจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการมือชา เท้าชา
4. ภาวะปลายประสาทอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของเส้นประสาทที่มือและเท้า อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับอุบัติเหตุ การติดเชื้อ การได้รับสารพิษ หรือโรคเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม
5. ภาวะเลือดไหลเวียนไม่ดี : การขาดการไหลเวียนของเลือดไปยังปลายมือหรือเท้าอาจทำให้เกิดอาการชาได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ
6. ชาจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก : โดยจะพบว่ามีอาการชาร่วมกับอ่อนแรงครึ่งซีก หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ทันท่วงที

วิธีดูแลและป้องกัน ‘มือชา-เท้าชา’
1.ปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนให้ถูกต้อง เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งทับขานานๆ หรือการนอนทับแขน จะช่วยลดการกดทับเส้นประสาทที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชา
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและการไหลเวียนของเลือด เพียงแค่การเดิน การยืดเหยียด และการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยลดอาการชาได้
3.รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ปลา และธัญพืช จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการมือชา เท้าชาได้ นอกจากนี้ การทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจะช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

4.ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้คุณรับรู้ถึงปัญหาทางสุขภาพที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชาได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ทันเวลา
อย่ารอให้อาการชา เป็นปัญหาใหญ่
หากพบว่าตัวเองมีอาการชาที่มือหรือเท้าเป็นเวลานาน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการปวดร่วมด้วย หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการท่าทางของอวัยวะที่ชา ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และหากพบความผิดปกติที่อาจมีโรคที่ร้ายแรงซ่อนอยู่ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเส้นประสาทถูกกดทับ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรกๆ