เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งปลดออกจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ย้อนหลัง เนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายนิพนธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อนุมัติงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชน เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาทว่าตน ได้ดำเนินการนำเรื่องไปฟ้อง ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 เพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง ป.ป.ช. และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

โดยมีเหตุผลในการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อาทิ ตนไม่ได้ทำผิดตามที่ป.ป.ช.กล่าวหา โดยกล่าวหาว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้กล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะมีการกล่าวหาแบบละเว้นธรรมดา และละเว้นโดยทุจริต ซึ่งกรณีนี้ ป.ป.ช.กล่าวหาตนว่าละเว้นธรรมดา ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง 2 คันให้กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เพราะมีบริษัท ไทยวินเนอร์ มายื่นร้องต่อ อบจ.สงขลา และ สตง.สงขลา ว่ามีการกระทำความผิดในการจัดซื้อจัดจ้างรถซ่อมบำรุง ซึ่งเหตุเกิดก่อนที่ตนจะมาเป็นนายก อบจ. เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งก็มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวว่ามีการฮั้วประมูล จนนำสู่คำสั่งของรองผวจ.สงขลา ให้ระงับจ่ายไว้ก่อน และตนก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสรุปว่าเรื่องนี้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในศาลปกครองสูงสุด ในคดีแพ่ง

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีอาญาตนขอสู้ เพราะไม่มีความผิด เนื่องจากต้องมีการสอบก่อนว่ามีการฮั้วประมูลจริงหรือไม่ ประกอบกับทางจังหวัดมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ซึ่งผลสอบออกมาว่ามีการฮั้วประมูลจริง ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเงิน 51 ล้านบาทต้องเก็บไว้ที่ อบจ.สงขลา ดังนั้น เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลต้องส่งให้อัยการ อัยการเห็นว่าตอนนี้มีข้อไม่สมบูรณ์พบพิรุธ จำนวน 16 หน้าประกอบกับ สภ.สงขลา และกองปราบปราม พบว่ามีการฮั้วกันจริงและใช้เอกสารปลอม จึงยังไม่จ่าย แต่กลับมีการวิ่งเต้นให้ตนจ่าย ซึ่งตนไม่ยอมจ่ายและจะได้นำรายละเอียดชี้แจงในชั้นศาลต่อไป

นายนิพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้ชี้ว่าตนกระทำการโดยทุจริต จะนำคดีอาญามาลงโทษตนทางวินัยนั้นไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าทำผิดวินัยอย่างไรถึงจะลงโทษได้ แต่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ จึงถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบ อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.จัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดว่าหากจะมีการลงโทษผู้บริหารท้องถิ่นทางวินัยต้องลงโทษ 2 ปีนับจากครบวาระดำรงตำแหน่ง ซึ่งตนได้รับเลือกตั้งเมื่อเดือน ส.ค. 2556 และครบวาระเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ถ้าจะลงโทษต้องลงโทษภายในปี 2562 แต่ มท.มาลงโทษเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งล่วงเลยตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนด ประกอบกับที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดเคยกำหนดว่าการที่จะลงโทษ ต้องเป็นคดีทุจริต และในปี 2564 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยังยืนยันตามหลักการนี้คือต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่คดีนี้ไม่ได้ตั้งกรรมการสอบ ดังนั้น ตนจึงต้องฟ้องให้เพิกถอนคำสั่ง

“ผมพร้อมพูดความจริงในทุกศาล น้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ แต่ต้องอยู่บนความยุติธรรม เที่ยงธรรม ถ้าผมทำผิดจริงไม่ต้องรอให้ใครถามเรื่องสปิริต เพราะพรรคถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใครทุจริตก็อยู่ไม่ได้ ถ้าวันนี้ทำเพื่อป้องกันการโกงเงินของแผ่นดินแล้วถือเป็นความผิด บ้านเมืองจะอยู่กันลำบาก และต่อไปนี้รัฐจะเสียหายอย่างมาก”นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญต้องเริ่มที่การทุจริต ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช.ไม่ได้ชี้มูลว่าทุจริต ดังนั้น ตนจึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติ และเชื่อว่าการพิสูจน์ความจริงจะปรากฎทุกอย่างในเอกสาร ซึ่งตอนนี้ทั้งสถานีตำรวจภูธรสงขลา และกองปราบปรามยืนยันว่าทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว โดยเป็นหลักฐานชี้ชัดว่าตนไม่ได้ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้วจะวินัยจะผิดได้อย่างไรจึงนำมาสู่การฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่ง ซึ่งต้องรอผลการตัดสิน

เมื่อถามว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี นายนิพนธ์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของนายเรืองไกรก็ทำไปอย่างนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นอาชีพของเขา ส่วนการที่นายเรืองไกร เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ตนไม่อยากให้คดีนี้เป็นเรื่องการเมือง ส่วนใครจะทำให้เป็นการเมืองก็รับผิดชอบไป.