วันนี้ “เดลินิวส์” ขอนำบทความจาก “โรงพยาบาลราชวิถี”  ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องปัญหาการนอน ไม่ได้มีเพียงแค่การนอนน้อยหรือนอนหลับไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ “การนอนมากเกินไป” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวปัญหาที่ทำร้ายร่างกายของคุณได้  

ขอนำ 7 ข้อเสีย เมื่อคุณนอนมากเกินไป มานำเสนอ เพื่อให้คุณตรวจสอบตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่สุขภาพจะพัง

1. เพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ผู้ที่นอนหลับระหว่าง 7-9 ชั่วโมง มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 27 ขณะที่ผู้ที่นอนหลับนาน 9 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นจะมีโอกาสเสี่ยงมากถึงร้อยละ 49

2. ทำลายสมอง มีการศึกษาในปี 2012 พบว่าหญิงชราที่นอนหลับมากเกินไปหรือน้อยเกินไปนานติดต่อกันมากกว่า 6 ปี สมองจะเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับหญิงสาว ซึ่งนอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า 5 ชั่วโมงก็จะมีสมองที่แก่เร็วกว่าปกติถึง 2 ปี

Annoyed and mad asian girl in blue pajamas and sleeping mask screaming frustrated as overslept, showing alarm clock and shouting bothered, being late for work, holding pillow.

3. ตั้งครรภ์ยากขึ้น ในปี 2013 ทีมวิจัยของเกาหลีได้วิเคราะห์พฤติกรรมการนอนหลับของผู้หญิงที่มีปัญหาในการตั้งครรภ์มากกว่า 650 คน พบว่าอัตราการตั้งครรภ์จะสูงที่สุดในกลุ่มของผู้หญิงที่นอนหลับระหว่าง 7-9 ชั่วโมงและต่ำที่สุดในกลุ่มของผู้หญิงที่นอนหลับระหว่าง 9-11 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้แม้ยังไม่พบสาเหตุที่เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน แม้เราจะรู้ว่าพฤติกรรมการนอนหลับสามารถส่งผลต่อระบบนาฬิกาชีวภาพ การหลั่งฮอร์โมน และรอบเดือนได้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากเนื่องจากมีปัจจัยที่ยากเกินการควบคุมมากเกินไป

4. เพิ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน นักวิจัยพบว่าผู้ที่นอนหลับมากกว่า 8 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 มากกว่าผู้ที่นอนหลับระหว่าง 7-8 ชั่วโมง มากถึง 2 เท่า แม้ว่าจะมีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของมวลร่างกายแล้วก็ตาม

5. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ผู้ที่นอนหลับนานหรือน้อยเกินไปจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ที่นอนหลับระหว่าง 7-8 ชั่วโมง โดยร้อยละ 25 ของผู้ที่นอนหลับระหว่าง 9-10 ชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม แม้ว่าจะมีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วก็ตาม

6. บั่นทอนสุขภาพหัวใจ ผู้ที่นอนหลับนาน 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพหัวใจเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 2 เท่า และโรคหลอดเลือดแดง 1.1 เท่า

7. เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในปี 2010 นักวิจัยพบว่าผู้ที่นอนหลับทั้งนานและน้อยเกินไปมีโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยผู้ที่นอนหลับนานกว่า 8 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 1,382,999 คนถึง 1.3 เท่า