เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 68 ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ส่วนกลาง ยังคงเกาะติดปัญหาการก่อสร้างโครงการ 7 ชั่วโคตรในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตรงจุดก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบประมาณ 148,200,000 ล้านบาท ถูกเบิกเงินไปแล้วกว่า 80 ล้านบาท ปัจจุบันยังคงพบผิวถนนที่ถูกเปิดเป็นบล็อกเต็มไปทั่วเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ แผ่นเหล็กขนาดใหญ่ เสาเข็มยังคงปักเป็นหนามตำใจคนกาฬสินธุ์ คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำขังในจุดก่อสร้าง โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานและหวาดผวาจากอุบัติเหตุและโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นจากน้ำเน่าเหม็นและกองหิน เศษดิน ที่กระจายในเขตเทศบาลฯ

ยิ่งในวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จึงทำให้ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.อบจ. จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงปัญหา 7 ชั่วโคตร ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา บ้างพากันก่นด่าไปต่างๆ นานา ต่างเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในการเอาผิด หจก.ขาใหญ่และกรมโยธาฯ ผู้บริหารสัญญาว่า จะมีความสามารถเอาเงินภาษีของประชาชนคืนแผ่นดินได้จริงหรือไม่

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาการนิ่งเฉยทั้งหมดเกิดจากระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ลืมหูลืมตาของผู้ที่มีหน้าที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ชาวกาฬสินธุ์ ทั้งที่มีหน้าที่จะต้องติดตามตรวจสอบดูแลสอบถามหามาตรการ และควรที่จะต้องทำทุกวิธีทางเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบรู้สึกปลอดภัย สบายใจ แม้ที่ผ่านมาจะมี สตง.-ปปท.-ปปช. รวมไปถึง กมธ.ปปช.ฯ ที่ลงพื้นที่มาก็เหมือนเป็นการขัดน็อตให้ข้าราชการในพื้นที่เข้ามาแก้ไขปัญหา ก็ยังนิ่งเฉย แม้จะมีการให้ร้องเรียนไปถึง นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่เห็นว่าจะทำให้ข้าราชการผู้มีหน้าที่ใช้โอกาสนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่กลับมีความพยายามสกัดไม่ให้พี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนออกมาร้องเรียน

“อย่ามองว่าประชาชนคนกาฬสินธุ์เป็นคนโง่ การที่ผู้บริหารจังหวัดนิ่งเฉยไม่เข้ามาแก้ไข ไม่พ้นที่จะทำให้ประชาชนคิดไปว่า ผู้บริหารจังหวัดกำลังหวาดกลัวอำนาจอะไรบางอย่าง หรือไปแตะโครงการนี้เกรงว่าตัวเองจะไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน หรืออาจจะมีความต้องการที่จะปกป้องอะไรอยู่หรือไม่ บรรยากาศวันนี้จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่ต่างจากเมืองลับแลผลกระทบทำให้เศรษฐกิจจังหวัดกาฬสินธุ์พังพินาศ ประชาชนขาดโอกาส รู้สึกหมดหวังสิ้นหวังต่อระบบราชการ โดยเฉพาะขณะนี้มีคลิปของบิ๊กจังหวัดได้กระจายอยู่ในโซเชียลเป็นคำพูดทำนองว่า “ผู้รับเหมาก็เป็นคนกาฬสินธุ์ หากอะไรจะเกิดขึ้นกับกาฬสินธุ์ ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเพราะเป็นคนกาฬสินธุ์ด้วยกัน” ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธาเชื่อถือ แต่ทุกวันนี้คนกาฬสินธุ์พูดไปก็เท่านั้นเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คงไม่คิดที่จะลงมาตรวจสอบปัญหานี้ จึงทำให้ทุกอย่างที่ร้องเรียนไปทั้งหมดไม่มีผลอะไรเลยกลายเป็นจังหวัดที่ด้อยพัฒนา” ชาวบ้านที่เดือดร้อน กล่าว

ขณะที่ ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ กล่าวว่า การติดตามแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างของกรมโยธาฯ สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องชาวกาฬสินธุ์ ทั้ง 8 โครงการนั้น กมธ.ปปช.ฯ จะทำการติดตามตรวจสอบให้ถึงที่สุด ที่ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ปธ.อนุกมธ.ปปช. นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็น ปธ.ที่ปรึกษา กมธ.ปปช.และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำ กมธ.ปปช.ฯ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ รอง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ ติดตามใกล้ชิด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารของ กรมโยธาฯ ได้ส่งไปยัง กมธ.ปปช.ฯ มีเอกสารหลายร้อยหน้าในแต่ละโครงการ เบื้องต้นพบพิรุธในหลายจุด โดยเฉพาะการบริหารสัญญาที่ปล่อยให้งานไม่คืบหน้าแต่ไม่มีการรายงาน หรือมีการรายงานข้ามเดือนข้ามปี การทำงานคู่ขนานขณะนี้ มี สตง. เข้าร่วมตรวจสอบที่มีกำหนดที่จะเข้ามารายงานตามระยะเวลา ไม่เกิน 45 วัน ก็จะได้ความชัดเจน แต่ขณะนี้มีการเตรียมพิจารณาปัญหาเพื่อสรุปส่งต่อไปยัง ปปช. เพื่อติดตามตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ส่วนกรณีข้อสังเกตเกี่ยวกับการปล่อยปละละเลยหมายถึงความล่าช้าของ กรมบัญชีกลาง ต่อการประกาศให้ 2 หจก.นี้เป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน ทั้งที่ กรมโยธาฯได้ประกาศและรายงานไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น กมธ.ปปช.ฯ ได้รับรายงานเป็นหนังสือจาก กรมบัญชีกลาง ยืนยันว่า ผลการพิจารณาของ กรรมการพิจารณาได้ประกาศให้ 2 หจก.เป็นผู้รับเหมาทิ้งงานแล้ว ทั้งนี้เกิดขึ้นตามมติที่ประชุม ประกาศให้ 2 หจก.นี้ เป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน และปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนาม มีผลตามกฏหมายหมดสิทธิ์ในการเข้าประมูลงานกับภาครัฐทุกกรณี จึงขอให้พี่น้องประชาชนชาวกาฬสินธุ์ และพี่น้องประชาชนที่มาร้องทุกข์ยัง กมธ.ปปช.ฯ มีความมั่นใจ และยืนยันว่าจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบเพื่อพี่น้องประชาชนในทุกโครงการเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการป้องกันปัญหาการทุจริตต่อไป

ด้านแหล่งข่าว เปิดเผยว่า การร้องเรียนของประชาชนนั้น ก็เพื่อที่จะบอกให้ผู้มีอำนาจในส่วนกลางใส่ใจดูแลปัญหาของพี่น้องประชาชน ปัญหาการก่อสร้างที่ถูกประณามว่าเป็นการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ปัญหาเกิดตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ถือเป็นคำพูดที่สื่อให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ประชดความไม่ตั้งใจของผู้รับจ้างจนตกเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน ความเดือดร้อนเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ก็มีถึง 4 โครงการ คือ1.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 39,540,000 บาท 2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ งบ 59,350,000 บาท 3. โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมือง งบ 148,200,000 บาท 4.โครงการก่อสร้างเขื่อนตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ อ.เมืองกาฬสินธุ์ งบ 108,800,000 บาท นอกนั้นจะอยู่ในพื้นที่ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย อีก 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชีบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย งบ 39,525,000 บาท 2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย งบ 59,270,000 บาท 3. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย งบ 59,306,000 บาท 4. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง อ.เมืองกาฬสินธุ์ งบ 44,490,000 บาท ที่ก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว แถมยังเบิกเงินไปได้กว่า 250 ล้านบาท ต่อจากนี้คงหวังได้เพียงให้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเอาผิด ปปช. จะต้องเร่งสอบสวนติดตาม และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์เงินแผ่นดิน โดยเฉพาะ สตง. ก็ต้องร่วมสร้างความชัดเจนในการเอาผิดกับต่องานก่อสร้างที่กลายเป็นมหากาพย์ 7 ชั่วโคตรด้วย.