เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 68 มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “สมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย” ได้โพสต์เปิดปริมาณ “ฟลูออไรด์” หากร่างกายรับปริมาณขนาดไหนถึงจะอันตราย หลังมีโลกโซเชียลมีความกังวลเรื่องโทษของฟลูออไรด์ ที่กินเข้าไปแล้วจะส่งผลต่อไอคิวและกระดูกจริงหรือไม่?

โดยเพจสมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ระบุข้อความว่า “มีความกังวลเรื่องโทษของฟลูออไรด์ เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ก่อนจะกังวล เราควรศึกษาให้รู้จริงว่าคืออะไรนะคะ แทบทุกอย่างในโลกนี้ ถ้ามีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโทษ ซึ่งบางอย่างต้องใช้เวลาในการศึกษาหลายๆ ปีกว่าจะรู้สำหรับฟลูออไรด์ มีการนำมาใช้และศึกษามากกว่า 100 ปี พ้น generation หนึ่งของคนแล้ว เราจึงรู้จักฟลูออไรด์ดีพอ ที่จะนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันฟันผุ โดยไม่เกิดโทษของมัน”

อีกทั้ง “ปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในยาสีฟัน ตามภาพเป็นปริมาณที่ปลอดภัย และห่างไกลปริมาณที่ทำให้เกิดโทษ ใช้ตามที่แนะนำช่วยป้องกันฟันผุได้ค่ะ แล้วปริมาณเท่าไรที่ทำให้เกิดโทษ (toxicity) มาดูกันชัดๆค่ะ โทษของฟลูออไรด์ มี 2 แบบ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. แบบฉับพลันทันที เมื่อได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมาก คือ 5mg/kg ขึ้นไป จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง 5 mg/kg คือ ปริมาณเท่าไร สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg คิดจากเด็กเล็กสุด น้ำหนักน้อย เพื่อคำนวณปริมาณต่ำสุด ที่จะเกิดโทษนะคะ”

นอกจากนี้ “ปริมาณที่ทำให้เด็กน้ำหนัก 8 kg คลื่นไส้อาเจียน = 40 mg Fluoride ยาสีฟัน 1000 ppm แปลว่า ใน 1 g. ของยาสีฟัน มี ฟลูออไรด์ 1 mg. นั่นคือ เด็กเล็กต้องบีบยาสีฟันออกมา 40 กรัม และทานเข้าไปทั้งหมดในคราวเดียว ถ้าเป็นหลอดขนาด 40 g คือบีบกินทั้งหลอด ยาสีฟันเด็ก 1 หลอดมีขนาด 40, 60, 80 กรัม ยาสีฟันผู้ใหญ่ หลอดใหญ่ 1 หลอดมี 160 กรัม เราจึงแนะนำให้เก็บยาสีฟันห่างจากมือเด็ก และให้ผู้ใหญ่บีบยาสีฟันให้เด็กตามปริมาณที่แนะนำเสมอ”

โดย “โทษจากการได้รับสะสม หากได้รับฟลูออไรด์เกิน 0.05-0.07 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลาหนึ่งจะทำให้ฟันตกกระ ที่เรียกว่า fluorosis สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg คิดจากเด็กเล็กสุดเช่นเดิม ถ้าเป็นเด็กโตขึ้น ปริมาณก็เพิ่มขึ้นตามน้ำหนัก ปริมาณที่ทำให้เกิด fluorosis ได้ = 0.4 mg Fluoride ทานเข้าไปทุกวันจากคำแนะนำในภาพ เด็กอายุน้อยกว่า3 ปี ให้ใช้ยาสีฟันแค่แตะแปรงพอเปียก มีปริมาณฟลูออไรด์ 0.1 mg ต่อครั้ง การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก็ยังคงน้อยกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฟันตกกระได้”

อีกทั้ง “เมื่อผู้ปกครองเช็ดยาสีฟันหลังแปรงฟัน ก็ยิ่งเหลือในช่องปากลูก น้อยมากๆที่ไม่ทำให้เกิดโทษ แต่ยังได้ประโยชน์จากฟลูออไรด์ค่ะ เด็กโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ยิ่งปลอดภัยขึ้น เพราะปริมาณที่เริ่มทำให้เกิดโทษ ก็มากขึ้นตามน้ำหนัก เมื่อเด็กควบคุมไม่กลืนยาสีฟันได้ ก็ใช้ปริมาณยาสีฟันเพิ่มขึ้นได้ และยังปลอดภัย อาจเคยได้เห็นข้อความที่แชร์ต่อๆกันมาว่า ฟลูออไรด์มีผลต่อไอคิว ซึ่งเมื่อหมอไปหาดูบทความต้นเรื่อง เป็นรายงานถึงหมู่บ้านในเมืองจีนที่ประชากรมีไอคิวต่ำ และพบว่ามีฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงมาก ถึง 3-5 mgขึ้นไป/ลิตร”

โดย “ในการศึกษานั้นก็ไม่ได้มองดูปัจจัยอื่นๆอีก พื้นที่ที่มีแร่ฟลูออไรด์ในธรรมชาติสูง ก็อาจจะมีแร่ตะกั่วหรือโลหะหนักอื่นๆอยู่สูงด้วย ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้ก็มีผลต่อสมองได้ อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยในส่วนของฟลูออไรด์ว่า ปริมาณเท่าใดที่จะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง พบว่า สำหรับเด็กอายุ 7 เดือน ถึง 4 ปี ต้องได้รับในปริมาณที่เกิน 1.6-3.2 mg ต่อวัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง เด็กโตขึ้นปริมาณที่ทำให้เกิดโทษได้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งที่หมู่บ้านในประเทศจีนนั้น”

“หากเด็กดื่มน้ำวันละ 1 ลิตร ก็อาจจะได้รับถึง 3-5 mg มีผลต่อสมองได้ ????แต่ประเทศไทยเราไม่มีแร่ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงขนาดนั้น ยิ่งกรุงเทพฯและปริมณฑล มีน้อยกว่า 0.3 mgต่อลิตร เด็กน้อยต้องดื่มน้ำวันละ 5-10 ลิตรกันเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จะมีแต่ภาคเหนือและตะวันตกของประเทศไทย ที่มีแร่ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ปริมาณสูงกว่า 0.7 mg ต่อลิตร แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ปลอดภัยต่อสมองและประเทศไทยก็ไม่ได้เติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาให้ประชาชนด้วย”

“ส่วนปริมาณยาสีฟันที่เราใช้สำหรับเด็กเล็ก วัยก่อน 3 ขวบ ที่กังวลว่าจะกลืนเข้าไปนั้น แนะนำให้ใช้ปริมาณเท่าเมล็ดข้าวสาร มีฟลูออไรด์เพียง 0.1 mg/ครั้ง ห่างไกลปริมาณที่จะมีผลต่อสมองมากนักค่ะ ส่วนเด็กโตควบคุมไม่กลืนยาสีฟันได้ ให้ใช้ปริมาณมากขึ้น ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้จริง ทุกท่านใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ ตามปริมาณที่แนะนำได้อย่างสบายใจนะคะ คือ เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 ปีใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1000 ppm ปริมาณ แบ่งตามช่วงอายุ <3ปี ใช้เท่าเมล็ดข้าวสาร และ 3-6 ปี ใช้แค่ความกว้างของแปรงเด็ก”

อย่างไรก็ตาม “เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1500 ppm เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่มีความเสี่ยงฟันผุสูง ซึ่งประเมินโดยทันตแพทย์ อาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1500 ppm โดยใช้ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของทันตแพทย์นะคะ ทันตแพทย์ก็ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์แปรงฟันทุกวัน และให้ลูกและคนในครอบครัวใช้ตามคำแนะนำในภาพนี้เช่นกัน”

ขอบคุณข้อมูล : สมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย