ประเมินภาพรวมจะเห็นว่าทางค่ายแดง ค่ายส้ม แข่งกันส่งตัวพ่อลงไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งเพื่อดึงคะแนนชิงฐานมวลชน อย่างพรรคเพื่อไทยส่ง ‘นายใหญ่’ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตระเวนไปทุกพื้นที่ที่ส่งผู้สมัครหวังดึงคะแนนจากคนเสื้อแดงที่ยังรัก แม้ไม่ได้ทั้งหมดตามเป้าแต่ก็ถือว่ายังได้เป็นกอบเป็นกำพอสมควร
ส่วนค่ายส้มส่งผู้นำทางจิตวิญญาณชาวด้อมส้ม ทั้ง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ‘พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์’ เดินสายไปทั้ง 17 จังหวัดที่ส่งผู้สมัครลงนายก อบจ. ชิงเก้าอี้จากเพื่อไทยเบื้องต้นชัดเจนเพียงจังหวัดเดียวคือลำพูน ถึงไม่ได้ตามเป้าแต่หลายจังหวัดยุทธศาสตร์เช่น จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของนายใหญ่ ผลคะแนนที่ออกมาก็ทำเพื่อไทยอาจต้องปาดเหงื่อปรับยุทธศาสตร์สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปเหมือนกัน และค่ายส้มยังได้เก้าอี้ ส.อบจ ในระดับหนึ่ง
แต่ที่น่ากลัวคือค่ายบ้านใหญ่น้ำเงินที่มี ‘ครูใหญ่’ เนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คุมเกม ได้ทั้งคะแนนจัดตั้ง คะแนนใต้ดิน คะแนนจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ คอยตีหัวพรรคเพื่อไทย เบ็ดเสร็จ แต่ถ้าเทียบกับสงครามที่ต้องถล่มค่ายส้มถือว่าขั้วรัฐบาลประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้
อย่างไรก็ตามในสงครามครั้งใหม่การเลือกตั้งใหญ่นั้น วิถีการเลือกตั้งมันคนละกลิ่นกัน เพราะการเลือกตั้งใหญ่จะใช้กระแสนำ ดังนั้นอย่าเพิ่งดูถูกเหล่าด้อมส้ม ถือเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ที่เพื่อไทยกับภูมิใจไทยต้องตีให้แตก แต่ก่อนจะตีโจทย์แตกก็กลัวว่า 2 พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะแตกกันเองเสียก่อน ทำรัฐบาลไปไม่รอดหรือไม่ เพราะมีปมร้อนปีนเกลียวอยู่หลายสเต็ป
โดยเฉพาะการที่นายใหญ่ใช้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. ออกมาถล่มพรรคภูมิใจไทยแบบไม่ไว้หน้า ที่ จ.ศรีสะเกษ ปลุกสโลแกน “ไล่หนูตีงูเห่า” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือค่ายแดงแพ้สีน้ำเงินราบคาบในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นเมืองดอกลำดวน
นาทีนี้การเมืองยังคงไฟลุกต้องจับตาทุกย่างก้าว เพราะศึกต่อไปคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้ารอยรักรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงมีรอยแยกมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่รัฐบาลสูตรพิสดารจะไปไม่รอด จะอยู่กันไปแบบตบจูบก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ
ที่สำคัญต้องจับตาว่าหลังศึกซักฟอกในเดือน มี.ค.นี้ จะมีการเอาคืนพรรคร่วมรัฐบาล ถีบพรรคหัวแข็ง หรือผ่าตัดพรรครวมไทยสร้างชาติให้เป็นพรรคอกแตกเหมือนพรรคพลังประชารัฐ และมีการเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีอีกระลอกอย่างไร.