เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 ว่า ภาพรวมมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ โดยในจำนวนบัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็น 87.23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าเกือบจะเท่ากับปี 2563 ที่มีบัตรเสียอยู่ที่ 5.63 เปอร์เซ็นต์ และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาพรวมผู้มีสิทธิเลือกสมาชิก อบจ. 47,124,842 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นบัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็น 87.56 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็น 5.63 เปอร์เซ็นต์ และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81 เปอร์เซ็นต์

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ. (47 จังหวัด) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. ลำพูน คิดเป็น 73.43 เปอร์เซ็นต์ 2. นครนายก คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ 3. พัทลุง คิดเป็น 72.56 เปอร์เซ็นต์ 4. นราธิวาส คิดเป็น 68.42 เปอร์เซ็นต์ 5. มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. (29 จังหวัด) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. พะเยา คิดเป็น 61.68 เปอร์เซ็นต์ 2. เลย คิดเป็น 58.04 เปอร์เซ็นต์ 3. เพชรบุรี คิดเป็น 57.44  เปอร์เซ็นต์ 4. ยโสธร คิดเป็น 56.72 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 56.63 เปอร์เซ็นต์ 5. ชัยนาท คิดเป็น 56.63 เปอร์เซ็นต์

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า จากข้อมูลที่เห็นว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิน้อย ไม่ได้ตามเป้า เพราะจัดการเลือกตั้งวันเสาร์นั้น ตนเคยชี้แจงว่ามีข้อจำกัดที่ข้อกฎหมายที่ต้องเลือกภายใน 45 วัน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พบว่ามี 6 จังหวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรือเป็นเกาะ ส่งรายงานผลคะแนนและหับบัตรเกินเวลา 24.00 น. ของวันที่ 1 ก.พ. สะท้อนว่าสิ่งที่เราได้ตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเราได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งครั้งนี้ก็เกิดเหตุกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างส่งหีบบัตร ซึ่งตนขอแสดงความเสียใจ และทาง กกต. จะดูแลตามสิทธิที่ กปน. ควรจะได้รับ ดังนั้น การเลือกวันเลือกตั้ง จึงต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่กดดันการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย และการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะผู้สมัครทุกคนแข่งขันขันอย่างเท่าเทียม ภายใต้กติกาเดียวกัน อีกทั้งจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่าการจัดเลือกตั้งปี 2563 เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเทียบการจัดเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์คราวนี้ มีการเลือกตั้งใน 29 จังหวัดไปก่อนหน้านี้แล้ว ถือว่าครั้งนี้ดีกว่า

นายแสวง กล่าวต่อว่า ส่วนจำนวนบัตรเสีย ยืนยันว่าไม่ต่างจากปี 2563 โดยบัตรเสียจากการเลือกนายก ถือว่าเท่ากับปี 2563 ขณะที่บัตรเสียจากการเลือกสมาชิกดีครั้งนี้ มีน้อยกว่าเมื่อครั้งปี 2563 อยู่ที่ 7.63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการได้รับข้อมูล พบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากตัวระบบที่ทำให้มีเบอร์ของผู้สมัครที่ส่งในนามพรรค และส่งในนามสมาชิก บางจังหวัดมีการแข่ง ทำให้จำนวนไม่เท่ากัน เพราะบางจังหวัดเลือกเฉพาะสมาชิก บางจังหวัดก็เลือกทั้ง 2 ประเภท ทำให้ประชาชนอาจสับสน ลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร มองได้ว่าไม่ได้เป็นการตั้งใจทำให้บัตรเสีย ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งเขตใหม่จึงทำให้ประชาชนสับสน ส่วนที่ตั้งใจทำให้เป็นบัตรเสียนั้นมีส่วนน้อย สำหรับบัตรโหวตโน ไม่เลือกใครนั้น กกต. ไปตอบแทนประชาชนไม่ได้ แต่ช่องนี้น่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อผู้สมัครในเขตนั้นๆ

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกสภา อบจ. ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนตามที่กฎหมายกำหนด 3 เขต คือได้คะแนนเสียงไม่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2 และจังหวัดชุมพร อำเภอสวี เขตเลือกตั้งที่ 4 และมีอีก 1 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครถูกตัดสิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือจังหวัดชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1 ดังนั้น ทั้ง 4 จังหวัดนี้ต้องเลือกตั้งใหม่ โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ นอกจากนี้ ยังพบว่า มี 4-5 จังหวัด ที่พบจำนวนบัตรกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนไม่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้ทางจังหวัดต้องพิจารณาและเสนอมาที่ กกต. ว่าสมควรจะให้มีนับคะแนนใหม่ หรือลงคะแนนเลือกตั้งใหม่

เมื่อถามว่าพรรคประชาชนจะเสนอให้มีการนับคะแนนเลือกนายก อบจ. ที่ จ.เชียงใหม่ และสมุทรปราการ เนื่องจากเห็นว่ามีจำนวนบัตรเสียเยอะ นายแสวง กล่าวว่า เรื่องการนับคะแนนใหม่นั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ เช่น ระหว่างการนับคะแนน มีการทักท้วงและมีการทำบันทึกไว้หรือไม่ ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งที่ปรากฏทางสื่อช่องทางต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงาน และล่าสุดจำนวนเรื่องร้องเรียนมี 180 เรื่อง.