เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ช่วงกระทู้ถามเป็นหนังสือ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบคำถามเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามและหลอกลวงทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการบริการโทรคมนาคม ตั้งถามโดย นายสุทนต์ กล้าการขาย สว. ตอนหนึ่งว่า ครม. ผ่านความเห็นชอบการแก้ไขร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่…) พ.ศ. … เมื่อเดือน ม.ค. และขณะนี้ อยู่ระหว่างที่กฤษฎีกาดูรายละเอียดเล็กน้อย ทั้งนี้คาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ก.พ. นี้ สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. อาทิ ให้ธนาคารรายงานข้อมูลการเงินต่อ ปปง. เพื่อให้การคืนเงินแก่ผู้เสียหายทำได้รวดเร็ว และมีกำหนดโทษผู้ที่ซื้อขาย หรือเปิดเผยส่วนบุคคล ทั้งที่ทำเพื่อการค้าหรือเสนอว่าจะให้ รวมถึงให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการโทรคมนาคม สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน หากไม่ระมัดระวังต่อการดูแลระบบที่ปลอดภัย
“ร่าง พ.ร.ก.นี้มีบทกำหนดเรื่องการคืนเงินผู้เสียหาย กำหนดธนาคารรายงานธุรกรรมการเงินต่อ ปปง. หากตรวจสอบได้ จะกำหนดการคืนเงิน โดยให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อ ปปง. ได้ ทำให้กระบวนการคืนเงินจะทำได้รวดเร็ว นอกจากนั้นแล้ว กรณีที่มีการปล่อยให้ส่งข้อความดูดเงิน ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบ” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหา รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยออนไลน์ผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพนันออนไลน์นั้น สำหรับการพนันออนไลน์ตนจะรับไปพิจารณาอีกครั้ง ส่วนการแก้ปัญหาซิมม้า ทางกระทรวงได้ตรวจสอบการถือครองและมีมาตรการให้ศูนย์บริการโทรศัพท์ และ กสทช. ให้ผู้ที่ถือครองซิมจำนวนมากมาชี้แจง รวมถึงการตรวจสอบการโทรศัพท์ที่เกิน 100 สายต่อวัน ว่ามีเหตุผลอะไร หากไม่สามารถตอบเหตุผลที่เพียงพอได้ จะระงับซิมโทรศัพท์
“การเปิดซิมบัญชีม้า ปัจจุบันมีราคาหมื่นบ้าน ส่วนบัญชีนิติบุคคลมีราคาหลักแสน ซึ่งกระทรวงได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตรวจสอบ ทั้งนี้ จากการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์เอโอซี 1441 เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน พบว่ามีการร้องเรียนประมาณ 3,000 สายต่อวัน ส่วนปัจจุบันยังจำนวนเท่าเดิม แต่พบว่ามียอดความเสียหายต่อวันลดลง 40% ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีความเสียหายอยู่ ต้องทำงานหนักเพื่อบูรณาการการทำงาน และยกระดับช่วยเหลือประชาชน โดยคาดว่าจะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว” นายประเสริฐ กล่าว
รมว.ดีอี กล่าวว่า ทั้งนี้ในเรื่องมาตรการป้องกันระยะยาว รัฐบาลพัฒนาระบบการป้องกันการโทรศัพท์หลอกหลวง คือระบบจะเสร็จในเวลาอันใกล้ โดยเมื่อระบบเสร็จแล้ว เมื่อใครลงแอปพลิเคชันแล้ว จะทราบว่าผู้ใดโทรศัพท์เข้ามา รวมถึงการยืนยันตัวตนให้เข้มข้น ขณะที่ศูนย์เอโอซี 1441 ให้บริการ 24 ชั่วโมง รวมถึงมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดย 1 เดือน มีข่าวปลอมเป็นล้านข่าว ต้องคัดและลบทิ้ง ดังนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ หากปล่อยให้เกิด ไม่ใช้ระบบป้องกันเพียงพอ ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหาย.