เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2568 ว่า วันนี้มีการหารือถึงมาตรการป้องกันควบคุมโรคจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากได้รับการร้องขอมาจากจังหวัดต่างๆ ให้มีการประกาศมาตรการเพิ่มเติม ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้นิ่ง บางครั้งการประกาศมาตรการต่างๆ อาจจะช้าไป หรือเร็วไป ก็จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติว่า ให้อำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ถือปฏิบัติและส่งข้อมูลไปในแต่ละจังหวัด โดยมีมาตรการที่จะดำเนินการเพิ่มเติม 5 มาตรการ ซึ่งมีมติให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ถือปฏิบัติและกระจายแนวทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

1.ลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นใหม่ที่เป็นข้อแนะนำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ คือ ศูนย์พักพิงชั่วคราว (Temporary Shelter) เพื่อทำเป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น สำหรับกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยติดเตียงเข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในภาวะปกติ

2.การสื่อสารความเสี่ยง เช่น แจ้งเตือนประชาชนเมื่อเข้าพื้นที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ผ่านช่องทางต่างๆ หรือการให้ อสม. ทำกิจกรรมเคาะประตูบ้าน ให้ความรู้ประชาชน ผู้นำชุมชนสื่อสารความเสี่ยงผ่านเสียงตามสายทุกวัน

3.การเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก ให้ อสม. พิจารณาคัดกรองสุขภาพประชาชนเชิงรุกด้วยแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ เก็บพิกัดบ้านของผู้ที่ได้รับการคัดกรอง นำพิกัดจากผู้ที่เข้ารับบริการจากคลีนิคมลพิษออนไลน์ไปคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM 2.5

4.การเฝ้าระวังเชิงรับ หน่วยบริการสุขภาพ คัดกรองผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM2.5 ทั้งโรคทางหู ตา คอ จมูก เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยโรค ลงรหัสโรคที่เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5

5.การแจ้งระบบรายงานและการสอบสวนโรค โดยเน้นย้ำเจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นๆ ให้แจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคหรืออาการจากฝุ่น PM 2.5 โดยการรายงานข้อมูลต้องทำเป็นเรื่องปกติ ให้มีรายละเอียด ไม่ใช่ประกาศมาตรการไปแล้วปล่อยเฉย จะต้องมีคู่มือดำเนินการ และทำให้พร้อม เพื่อเป็นข้อมูลทั้งการรักษา การป้องกัน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่มีการกำหนดเขตพื้นที่เป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1. เขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันโรค คือ มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. จะมีมาตรการต่างๆ คือ สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน หรือศูนย์รองรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

2.เขตพื้นที่ที่ต้องมีการควบคุมโรค คือ มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง เกิน 75 มคก./ลบ.ม. มีมาตรการสนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ ในเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวังและการป้องกันอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พิจารณาปรับรูปแบบการ การทำงานแบบ Work from home เป็นลำดับแรก และงดกิจกรรมกลางแจ้งที่ต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนให้พิจารณาปรับรูปแบบการดำเนินงานหรือวิธีการทำงานของหน่วยงานเพื่อดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตามสมควรแก่กรณี

3.หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด

4.ใช้กลไกและมาตรการทางกฎหมายตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. โดยให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นกรณีที่หากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ เพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ.