ยังถูกวิเคราะห์หลายแง่หลายมุมถึงความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ทั้งๆที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีไปปราศรัยในหลายพื้นที่ เช่น จ.เชียงราย ผลเลือกตั้งปรากฏว่า “นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์” อดีตนายก อบจ.เชียงราย สังกัดค่ายสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย (ภท.) เอาชนะ “นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช” ภรรยา นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำ พท.ภาคเหนือ ซึ่งจากการตรวจสอบพบ “นายยงยุทธ” มีปัญหาความขัดแย้งกับบ้านใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในพรรค พท. ทั้งจงสุทธานามณี เตชะธีราวัฒน์ และ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน”

ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรค พท. และทั้งหมดล้วนเป็นคนของ “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ ซึ่งแม้ระยะหลังไม่เข้ามามีบทบาทในการเมือง แต่ก็ยังมีบารมีที่ทำให้บรรดาสมาชิกพรรค พท.ต้องเกรงใจ ซึ่งปัญหาขัดแย้งระหว่าง “นายยงยุทธ” และ “นางเยาวภา” คาดบุคคลทั้งสองต้องการคุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เลยช่วงชิงการนำ ทำให้แต่ละฝ่ายมุ่งดิสเครดิต โดยเฉพาะการเลือกตั้งเมื่อปี 66 เรื่องการส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ สส. พรรค พท.บางเขต ทำให้คนของนายยงยุทธ ต้องไปลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และน่าสังเกตว่า ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ “พรรคประชาชน (ปชน.)” ไม่ส่งคนลงสมัคร จากนี้ต้องรอดูรอยร้าวครั้งนี้ใครจะช่วยสมานแผล “นายทักษิณ” จะยุติปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่ ในเมื่อคนหนึ่งเป็นน้องที่คลานตามกันมา ส่วนอีกคนเป็นน้องรักที่เคยทำงานใกล้ชิด

จากเรื่องนี้ทำให้นึกถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “นายทักษิณ” กับ “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ซึ่งเกิดขึ้นจากปมส่งคนลงสมัคร สส.ปทุมธานี เมื่อมีการเลือกตั้งปี 66 ซึ่งมีข่าวว่า “เจ๊คนดัง” ต้องการเข้ามามีอิทธิพลในการกำหนดบุคคลในการลงสมัคร จนทำให้เกิดปัญหากับ “บิ๊กแจ๊ส” ซึ่งในที่สุดผู้มากบารมีก็เลือกยืนข้าง “เจ๊คนดัง” จนทำให้ความสัมพันธ์ของอดีตนายกฯ กับนายตำรวจระดับสูง เจ้าของวลี “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ต้องถึงคราวแยกทางกัน นำมาสู่ความล้มเหลวในการเลือกสส.ที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งพรรค พท.ต้องผิดหวังไม่ได้เก้าอี้ สส. นำมาสู่การส่งคนลงชิงเก้าอี้นายก อบจ. สู้กับ “บิ๊กแจ๊ส” แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด

จากนี้ต้องรอดูว่า พรรค พท. ต้องบริหารจัดการภายในพรรคอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ทั้งเรื่องส่งบุคคลลงในสนามเลือกตั้งต่างๆ หรือการคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร และตกลงใครเป็นศูนย์กลางอำนาจอย่างแท้จริง

ขณะที่ภายหลังการประชุมพรรคพท “นายดนุพร ปุณณกันต์” โฆษกพรรค พท. แถลงผลการประชุมว่า ในที่ประชุมมีการพูดถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ได้ให้ความสนใจเรื่องการเลือกตั้ง อบจ.ซึ่งพรรค พท.ได้มาทั้งหมด 10 เก้าอี้ โดยได้มีการพูดคุยกันว่าบางจังหวัดที่ควรได้ แต่ก็พลาดไป บางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ช่วงชิงก็ประสบความสำเร็จ โดยนายกฯ ได้ขอบคุณ สส. ที่ช่วยกันหาเสียงจนทำให้การเลือกตั้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี รวมถึงได้มีความคิดที่จะเชิญทุกจังหวัดที่ลงนายก อบจ. มาพูดคุยกับนายกฯ 

นายดนุพร กล่าวต่อว่า โดยอาจจะเชิญมาพูดคุยเป็นรายจังหวัด ทั้งจังหวัดที่ได้รับการเลือกตั้งและไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อรับทราบปัญหาที่แท้จริงว่าทำไมบางจังหวัดจึงแพ้การเลือกตั้งหรือทำไมบางจังหวัดชนะการเลือกตั้งเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งใหญ่ปี 70 โดย น.ส.แพทองธาร กำลังจัดคิว ซึ่งหลังจากที่กลับจากประเทศจีน ก็จะได้นัดหมายกับทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่ชนะหรือแพ้จะได้สลับสับเปลี่ยนมาพูดคุยกัน ว่าในการเลือกตั้งปี 70 หากจะชนะการเลือกตั้ง พรรคควรมีนโยบายอะไร ซึ่งวันนี้ก็ได้รับการตอบรับจาก สส.เป็นอย่างดี

ส่วนปัญหาการกระทบกระทั่งกัน “พท.” กับ “ภท.” ระหว่างการเลือกตั้งนายก อบจ. ด้าน “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้ความเห็นถึงการประเมินการเลือกตั้งนายก อบจ. จะมีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตหรือไม่ว่า ทุกอย่างจบแล้วต้องมองไปข้างหน้า เมื่อถามอีกว่าเวลาเลือกตั้งทุกคนประกาศเป็นอิสระหมด แต่พอประกาศผลการเลือกตั้งก็มีการเมืองเข้ามา เช่น นายก อบจ.เชียงราย นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกคนก็มีความอิสระ ในส่วนของ นายก อบจ.เชียงราย มาสวัสดีปีใหม่ก็มาหาทุกปี เพราะเป็นพี่สาวของรองเลขาธิการนายกฯ ขอถามว่าเสียหายตรงไหน แม้แต่ว่าที่นายก อบจ.ที่เป็นบิดาของ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย ชนะการเลือกตั้งตนก็ดีใจ รวมถึงดีใจกับนายก อบจ.ทั่วประเทศ 

ที่น่าสนใจเมื่อสื่อตั้งคำถามว่า กรณีที่มีการวิจารณ์หลังผลการเลือกตั้งออกมาว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สิ้นมนต์ขลังแล้ว นายอนุทิน กล่าวว่า “ไม่มีหรอกสิ้นมนต์ขลัง จอมยุทธ์ก็คือจอมยุทธ์ ใครลองไปว่าท่านสิ้นมนต์ขลังดู คงจะประสบความหายนะอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยคาดการณ์หรือประมาณอะไรได้  ไม่มีหรอกครับ ยิ่งน่ากลัว” เมื่อถามอีกว่าจากวลี “ไล่หนูตีงูเห่า” จนถึง “การเมืองท้องถิ่นอย่าให้คนนอกเข้ามายุ่ง” เรื่องนี้ได้คุยหรือเคลียร์กันหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องเคลียร์อะไร เป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าจะโกรธก็ตั้งแต่สมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค พท.แล้ว ที่ประกาศไล่หนูตีงูเห่า ถึงเวลาหาเสียงเลือกตั้งก็ใส่กันไป เป็นบทบาทลีลาในการหาเสียง ทำให้ตัวเองประสบชัยชนะ” เมื่อถามอีกว่ามองอย่างไรที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าปัจจัยในการชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งนี้มาจากกระสุน นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้ากระสุนเป็นปัจจัยชี้ขาด ตนคิดว่าทุกคนจะชนะหมด ถามว่าจังหวัดบุรีรัมย์มีกระสุนหรือไม่ ทำไมคะแนนห่างกัน อย่าดูถูกประชาชนอยู่ที่การทำงาน

เท่ากับ “นายอนุทิน” ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “ภท.” กับ “พท.” เพราะอาจมีผลกระทบกับการทำงานในฐานะฝ่ายบริหาร อีกทั้งยังมีเวลาอีก 2 ปี ซึ่งสามารถใช้ในการสร้างผลงานให้ประชาชนได้เห็นได้

รอคอยกันมานาน ในที่สุดก็เริ่มมีความชัดเจน เกี่ยวกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของแกนนำพรรคฝ่ายค้านโดย “พรรค ปชน.” โดย “นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการนัดดินเนอร์พรรคร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 7 ก.พ.นี้ว่า จัดที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เป็นการนัดประชุมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อคุยเรื่องเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการทำงานร่วมกันในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน  ส่วนกรอบระยะเวลาอภิปรายที่วางไว้ในช่วงเดือน มี.ค.นั้น  ได้คุยกับวิปรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ ก็ไม่มีปัญหาอะไรในช่วงเดือน มี.ค.นี้ แต่จะเป็นสัปดาห์ไหนต้องมาคุยกันอีกครั้ง

เมื่อถามว่า จะเห็นการอภิปรายที่โยงไปถึง “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของรัฐบาลหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล เป็นเรื่องพฤติการณ์ที่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ  นิติธรรม และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อผู้ใด ถ้าเป็นการกระทำของรัฐบาล  ที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จะไม่มีข้อยกเว้น และจะเป็นการอภิปรายทั้งหมด เมื่อถามว่า จะมีปฏิบัติการโรยเกลือ ไปยื่นองค์กรอิสระหลังการอภิปรายหรือไม่  นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุยกัน ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่  ส่วนที่บอกว่านายกฯ เพิ่งจะมาดำรงตำแหน่งจะมีเรื่องให้ซักฟอกแล้วหรือไม่ ตนมองว่า พรรค พท.เป็นรัฐบาลมาแล้วเกือบ 2  ปี ไม่ว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่รัฐมนตรีหลายคนก็นั่งอยู่ในตำแหน่งมาเกิน 1 ปีแล้ว  และคิดว่านายกฯ 2 คน ของพรรคพท. น่าจะมีนโยบายเหมือนกันคงไม่ใช่ต่างคนต่างคิด 

ฟังคำชี้แจงของแกนนำพรรค ปชน. เชื่อว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ “นายทักษิณ ชินวัตร” คงหนีไม่พ้นถูกนำไปขึ้นเขียงด้วยแน่ๆ เมื่อมีการขยายความว่า ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล เป็นเรื่องพฤติการณ์ที่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ  นิติธรรม และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อผู้ใด  ถ้าเป็นการกระทำของรัฐบาล ที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม  จะไม่มีข้อยกเว้นและจะเป็นการอภิปรายทั้งหมด นอกจากนี้ท่าทีนายทักษิณ ระหว่างเดินทางไปปราศรัยหาเสียงนายก อบจ. ก็ประกาศชัดว่า หวังได้ สส. 200 คนในการเลือกตั้ง ซึ่งพรรค ปชน.ตั้งเป้าต้องได้ 250 เสียง ดังนั้น ถ้าหากพรรคไหนโต พรรคหนึ่งก็ต้องเล็ก ดังนั้นทั้งสองพรรคจึงไม่มีทางรอมชอมกัน

“ทีมข่าวการเมือง”