เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่จังหวัดตรัง ในการเสวนาเรื่องความเสี่ยงในการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ที่สำนักงาน ป.ป.ช.จัดขึ้น นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวถึงภาพรวมการทุจริตใน จ.ตรัง ว่า กรณีปัญหาการทิ้งงาน หรือทิ้งร้าง สร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน โดยภาพรวมทั้งหมดในจังหวัดตรังมี 23 โครงการ งบประมาณ 2,095 ล้านบาท พร้อมยกตัวอย่างการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ โครงการนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2559  ใช้งบประมาณไป 4 ครั้ง ขณะที่ใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 390 ล้านบาท โดยจังหวัดตรังในขณะนั้น ใช้งบกลุ่มจังหวัด จำนวน 39 ล้านบาทเศษ ต่อมามีเงื่อนไขว่าจะมอบให้เทศบาลนครตรังดูแล โดยในปี 2560 เทศบาลนครตรัง ได้ตั้งจ่ายงบใหม่เพื่อใช้ในโครงการนี้ 61 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2562 จะดำเนินการสร้าง เพื่อโอนให้เทศบาลนครตรัง แต่ก็ยังไม่เสร็จ

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า เมื่อทิ้งระยะมานาน จนกระทั่ง ป.ป.ช.ไปลงติดตามเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการเรื่องนี้  โดยใช้ค่าจ้าง 3.5 ล้านบาท ปรากฏว่า ดำเนินการตามสัญญาจ้างเรียบร้อย ณ วันนี้ และมีการตรวจรับงานด้านที่ปรึกษาได้ปรึกษาเนื้อหาแนวทางแล้ว จนเคาะราคากลางก่อสร้าง ปรากฏว่าการกำหนดราคากลางเป็นส่วนหนึ่งคือ 287 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีตามกฎหมายท้องถิ่น หากจะใช้งบเกิน 200 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ตรัง เทศบาลตรังจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ อนุมัติ แต่ผู้ว่าฯ ตรังเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน จึงขอเหตุผลเพิ่มเติม เช่น โครงการใหญ่ขนาดนี้ คุ้มค่าหรือไม่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมดำเนินการหรือไม่ การบริหารจัดการอาคารนี้ หลังจากนี้บริหารจัดการต่อเนื่องหรือไม่ ตนได้ประสานกับ สตง. เรื่องความคุ้มค่า เราต้องร่วมมือติดตามเรื่องนี้ จนทุกวันนี้เทศบาลนครตรัง มีหนังสือถึงผู้ว่าฯ ว่าเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่อนุมัติ

“ทำไมเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ หลังจากนี้เมื่อมีการบริหารจัดการโครงสร้าง โครงการขนาดใหญ่ นอกจากจะดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ เกรงว่าจะทิ้งร้าง เพราะในตรัง 23 โครงการทิ้งร้างไป 2 พันกว่าล้านบาท แล้วโครงการนี้ก็ยังสร้างไม่เสร็จ จะทิ้งร้างอีกหรือไม่ เราจะติดตามต่อเนื่องแน่นอน ไม่อย่างนั้นสภาพปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น ผมจึงเสนอว่า กรณีอย่างนี้ ก่อนสร้างโครงการ ไม่ศึกษาความเป็นไปได้ก่อน งบประมาณขนาดนี้ ต้องศึกษาความเป็นไปได้ ความเสี่ยง” นายบัณฑิต กล่าว

จากนั้น เวลา 16.00 น. นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความเสี่ยงในการจัดจ้างต่อเติมงานก่อสร้างหอศิลป์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ที่มีนายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง พร้อมคณะ มาให้ข้อมูล โดยนายสาโรจน์ กล่าวว่า กรณีดำเนินการอี- บิดดิ้ง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อในวงเงินกว่า 200 ล้านบาท จะต้องเป็นความรับผิดชอบของคู่สัญญา ซึ่งจะต้องบริหารเป็นไปตามสัญญา แต่ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือเมื่อสถานที่ที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นต้องมีแผนรองรับในการดำเนินการจัดกิจกรรมและจัดงาน และค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่ ที่จะต้องคิดต่อว่าจะหาเงินมาจากไหน ไม่เช่นนั้นหากอาคารก่อสร้างเสร็จแล้ว  แต่ไม่วางแผนรองรับไว้ ต่อไปจะลำบาก และจะเกิดสภาพการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เมื่อใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ก็จะไม่เกิดรายได้ แต่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นโครงการลักษณะนี้มีหลายจุดที่เป็นปัญหา จึงฝากเป็นข้อสังเกตไว้ ก็เชื่อว่าทีมงานเทศบาลจะเตรียมการในเรื่องนี้ไว้ และแม้ว่าทรัพย์สินนี้จะตกเป็นของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ขอผู้รับเหมาอย่าทิ้งงานและอย่าทิ้งร้าง

  

นายสาโรจน์ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของอาคารนี้เดิมคือ ทำเพื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม  ดังนั้นต้องดูกลุ่มเป้าหมายด้วย และมีความเป็นไปได้อย่างไร  และวางแผนต่อไปว่าหากมีคนเข้ามาดูจำนวนน้อยจะทำอย่างไรต่อ  เมื่อจะทำในเชิงพาณิชย์ก็อาจจะผิดวัตถุประสงค์  ดังนั้นจึงฝากให้เทศบาลไปดูด้วย 

ทั้งนี้นายนิวรณ์  ชี้แจงถึงความคืบหน้าการก่อสร้างว่า เมื่ออาคารสร้างเสร็จ เทศบาลก็จะเข้ามาดูแล บริหารจัดการให้ใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด  ขณะนี้มีแผนเตรียมการไว้แล้ว ว่าจะมีการดำเนินโครงการทีเค ปาร์ค ซึ่งได้ทำข้อตกลงไว้แล้ว ซึ่งอาร์ซีตรัง และพิพิธภัณฑ์ ที่ขณะนี้ให้มิวเซียมสยามมาเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งทุกอย่างได้ประสานและตกลงกันเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนอาคารที่เหลือก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการจะใช้พื้นที่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นโจทย์ที่เทศบาลจะต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นแผนการเดิม

ส่วนเงื่อนไขที่จะต้องตกลงกับกรมธนารักษ์ ซึ่งอาคารนี้เป็นทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง ที่มีเงื่อนไขไม่ให้หาผลประโยชน์  ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป เพราะลำพังเทศบาลดูแลเองคงไม่ไหว โดยหลักการต้องให้อาคารนี้ดูแลตัวเองได้ เป็นเป้าหมายที่คาดหวังและเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป 

เมื่อถามถึงแผนการก่อสร้างอาคารหลังจากนี้ นายนิวรณ์ กล่าวว่า มีแผนเดิมคือ 18 งวดงาน จะต้องดำเนินการใน 720 วัน ซึ่งมีคณะกรรมการกำกับดูแล ก็คาดหวังว่าหากไม่มีปัญหาใดๆ งานก็จะแล้วเสร็จในปี 2570 หลังจากนั้นก็จะมาบริหารจัดการอาคาร ทางนี้มั่นใจว่าจะสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับจ้าง ที่ขณะนี้เตรียมพร้อมที่จะเข้าซ่อมแซมอาคารแล้ว และได้เซ็นสัญญาไปแล้ว  

ส่วนข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.จะรับไปดำเนินการอย่างไรนั้น เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็จะนำไปวางแผนต่อ และปรับเนื้องานให้เสร็จ และต้องเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด นั่นคือความคาดหวังที่เราจะต้องทำให้ได้ แต่ก็เหลือเวลาอีก 2 ปีที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จาก ป.ป.ช. ก็จะไปหาวิธีการ ว่าจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหน ปัญหาประเด็นปัญหาจะต้องแก้อย่างไร ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่จะต้องเตรียมไว้ในอีก 2  ปีข้างหน้า.