เมื่อวันที่ 6 ก.พ. สส.พรรคประชาชน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย สส. และ สก. ร่วมกันแถลงข่าว “วิกฤติ PM 2.5 คือ วิกฤติภาวะผู้นำ” และข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยได้ขึ้นไปแถลงที่บริเวณดาดฟ้าชั้น 6 อาคารรัฐสภา
โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ได้พาเพื่อน สส. และ ส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ กทม. มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและแนะนำข้อเสนอต่อผู้นำประเทศ เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เป็นผลมาจากช่องว่างในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น จึงต้องหันมาแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อพี่น้องประชาชน เพราะปัญหาเรื่องฝุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่าเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาว กทม. ต้องอยู่ภายใต้วันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานประมาณ 30 กว่าวัน จึงถือเป็นปัญหาวิกฤติอย่างมาก เพราะประชาชนคนไทยไม่ได้เพิ่งรู้จักปัญหานี้ แต่รู้จักมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปีที่ 3 ของผู้บริหาร กทม. ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีการทำงานกันสอดประสานกันในผู้นำ 2 ระดับ เราจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่านี้ เพราะหากเทียบในช่วงระยะเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 2567-2568 จะพบว่าปัญหาฝุ่นเพิ่มขึ้นถึงมากกว่าเดิมถึง 20% ขณะเดียวกันหากติดตามค่าฝุ่นจะรู้ว่ามีปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ 1.7 มวน และที่ผ่านมาพรรคประชาชน จึงพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ อาทิ การผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ขณะนี้อยู่ในรัฐสภา รวมถึงมาตรการอื่นๆ และการตั้งกระทู้ถามตลอดจนผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์ในอนาคตและข้อบัญญัติเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
“ปัญหาฝุ่นไม่ได้กระทบกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่เด็กในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่าราวๆ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นผมคิดว่าเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้บริหารท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างที่เกิดในการบริหารระหว่างกัน และเดินหน้าแก้ไขเพื่อประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ที่ผู้ว่าฯ กทม. อ้างว่าไม่มีอำนาจเต็มมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ตนพบว่ามี 3 เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ 1.มาตรการเขตลดฝุ่น LEC ที่ห้ามรถบรรทุกเกิน 6 ล้อ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกรีนลิสต์เข้ามาวิ่งในโซน กทม.ชั้นใน เป็นจำนวน 2 วัน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจเต็มตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการจัดการ แต่เหตุใดถึงประกาศแค่โซน กทม.ชั้นใน ไม่ประกาศทั่ว กทม. 50 เขต ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นสีแดง โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้แจ้งว่า ที่บังคับใช้มาตรการ LEC ใน กทม.ชั้นใน เพราะมีฝุ่น PM2.5 จากรถยนต์ และรถสาธารณะมากกว่าโซนอื่น แต่หากเราใช้มาตรการ LEC ทั่ว กทม. แล้วขยายเวลาจาก 2 วัน เป็น 1 สัปดาห์ ตนคิดว่าจะสามารถลดฝุ่นได้จำนวนมาก 2.ไม่มีการประกาศมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ทั้งที่ กทม. ประกาศค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มมาตลอดสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ก็มีอำนาจเต็ม ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรออะไร และ 3.กรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. เสนอไปยังรัฐบาลให้ลดเกณฑ์ตรวจค่าทึบแสงควันดำรถยนต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ ไม่ทราบว่าได้ดำเนินการให้ลดเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ เนื่องจากยังพบว่ามีควันดำปล่อยออกมาจากรถอยู่
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกครั้งว่า ถ้าผู้นำทั้งสองระดับทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นร่วมมือสอดประสานกัน จะสามารถดำเนินมาตรการหลายๆ อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอแนะข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ผู้บริหารทั้งสองระดับอาจจะดำเนินการทำแล้วแต่ยังทำไม่เพียงเพียงพอ 2.กลุ่มที่สื่อสารมาแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง และ 3.กลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ ส่วนเรื่องนโยบาย Low emissions zone ใน กทม. หลายพื้นที่ยังไม่ครอบคลุม ข้อเสนอคืออยากให้มีการผลักดันมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรื่องอำนาจที่ยังไม่มากพอที่รัฐบาลส่วนกลางยังไม่มอบให้กับท้องถิ่น ดังที่ กทม. ระบุว่ายังไม่มีอำนาจในการตรวจ จับ ปรับรถควันดำ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่รอการสอดประสานจากรัฐบาลส่วนกลาง
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเสนอผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แต่น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้กฤษฎีกาตีความว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำเอง แต่อย่าลืมว่ายังมีรัฐบาลระดับประเทศมีอำนาจเต็มในการที่จะออกกฎหมายลำดับรองหรือประกาศต่างๆ เพื่อกำหนดให้พื้นที่ กทม. ต่อจากนี้อีกกี่ปี ต้องใช้รถโดยสารพลังงานสะอาด ส่วนเรื่องปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ทำอย่างไรให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม. ยังขาดอำนาจในการจัดการมลพิษใน กทม. คือการรอประกาศ กทม. เป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้สามารถควบคุมมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาภาคการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าหาก กทม. สามารถขจัดปัญหาฝุ่นได้ ก็จะสามารถเป็นโรลโมเดล หรือแบบอย่าง ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ก.พ. นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน สภา จะมีการถกแนวการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง.