เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ซึ่ง ส.ส.และสมาชิกหลายคนได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับขบวนรถของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ที่ได้ออกจากพรรคตั้งแต่เวลา 16.00 น. แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า ขบวนรถของพล.อ.ประวิตร ได้กลับเข้ามาในพรรคอีกครั้ง พร้อมเรียกแกนนำ และ ส.ส.บางคนเข้าหารือ

โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค อาทิ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิพรรค นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และรองเลขาธิการพรรค นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส, นายบุญสิงห์ วรินทรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค นายจิรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์  นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 1 ชั่วโมง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่ได้มีการหารือครั้งนี้ ได้พูดถึงการถอนตัวไม่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมีการยืนยันกับ พล.อ.ประวิตร ว่า ไม่ได้มีการบีบหรือกดดันพล.ต.อ.จักรทิพย์ แต่ได้มีการเสนอว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรจะต้องส่งในนาม พปชร. เพราะ ส.ก.กับ ส.ส. ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในสนามเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย เหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี ส.ก.ของพรรคเช่นเดียวกัน และถึงเวลาที่คัดสรรบุคคลลงแต่ละพื้นที่ได้แล้ว ส่วนผู้สมัคร ส.ก. 50 คนในทีมของพลตำรวจเอกจักรทิพย์ หลังจากที่พลตำรวจเอกจักรทิพย์ถอนตัวแล้ว ก็สามารถกลับมาร่วมงานกับ พปชร.ได้ อย่างไรก็ตามการส่ง ส.ก.ในนาม พปชร. ยังติดขัดข้อกฎหมายที่ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองหรือ ส.ส.ใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้คุณให้โทษกับผู้สมัครหรือเลือกตั้งท้องถิ่น

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนกรณีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ลงสมัครในนาม พปชร. และมีการเตรียมทีม ส.ก.ในนามของรักษ์กรุงเทพฯของตัวเองไว้ทั้ง 50 เขตแล้ว โดยในที่ประชุมมีแกนนำคนหนึ่งเสนอว่า หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถอนตัว พปชร.ก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะเขามีทีมของเขาอยู่แล้ว พร้อมกับมีการเสนอว่า ให้พรรคตัดสินใจส่งผู้สมัครลงในนามพรรค เพราะ กทม.คือพื้นที่เมืองหลวง เป็นหัวใจของประเทศ และทุกพรรคก็ตัดสินใจส่งผู้สมัครด้วยเช่นกัน เพียงแต่ผู้ที่เหมาะสม จะต้องมีชื่อเสียงสูสีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ลงสมัครในนามอิสระ โดยมีการพูดชื่อมาอย่างน้อย 3 คน คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้มีหน้าที่เข้าพบพลเอกประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อแคนดิเดตผู้สมัครของ ปชป.ด้วย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการหารือครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้แต่นั่งฟัง โดยไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด