แซมมี สปีเกล นักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อเป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า “โรคหมอนสองใบ” มาใช้อธิบายถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนโดยหนุนหมอนที่ซ้อนกันสองใบ

สปีเกลอ้างว่า เธอสั่งสมข้อมูลของอาการผิดปกตินี้จากประสบการณ์การทำงานมากว่า 13 ปี โดยระบุว่า ความผิดปกติที่เกิดจากการมีนิสัยชอบนอนหนุนหมอนซ้อนกันนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามันคืออาการผิดปกติ

สปีเกลผู้เชื่อว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาได้โพสต์คลิปวิดีโอบนบัญชีผู้ใช้ติ๊กต็อกของเธอ เพื่อเผยแพร่คำเตือนให้คนรู้ถึงข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้หมอนสองใบซ้อนกันเพื่อหนุนนอนทุกคืน

นักกายภาพบำบัดสาวอธิบายว่า การนอนหนุนหมอนสองใบซ้อนจะทำให้เกิดภาวะหลังค่อมที่เรียกว่า Dowager’s hump ซึ่งเกิดขึ้นกับช่วงคอต่อกับช่วงหลังส่วนบน ทำให้ช่วงหลังปูดนูนเหมือนมีหนอกที่คอ

ไม่ว่าอย่างไร ภาวะนี้หมายถึงกระดูกสันหลังของเรามีความโค้งมากเกินจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเพราะท่าทางการจัดตำแหน่งร่างกายที่ไม่เหมาะสมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง 

สปีเกลกล่าวว่า คนจำนวนมากมีนิสัยชอบนั่งหลังค่อมอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อถึงเวลานอนก็ไม่ควรจะทำให้ร่างกายอยู่ในลักษณะเดียวกันอีก

การนอนหนุนหมอนสองใบขณะหลับนั้น จะทำให้กระดูกสันหลังของเราโค้งงอมากขึ้น ทั้งที่เราควรจะหาทางยืดกระดูกสันหลังให้กลับเข้าที่ในขณะนอนหลับ หลังจากที่อยู่ในท่าทางที่ทำให้กระดูกสันหลังงอโค้งมาทั้งวันแล้ว

นักกายภาพบำบัดสาวแนะว่า ท่าทางการนอนที่ดีที่สุดคือนอนราบโดยไม่ต้องหนุนหมอนหรือใช้หมอนเพียงใบเดียวเท่านั้น แต่ถ้ารู้สึกว่าหมอนต่ำเกินไป ก็ให้ใช้ผ้าขนหนูม้วนแล้ววางรองไว้ที่หลังคอ เพื่อรองรับส่วนโค้งของกระดูกสันหลัง

สปีเกลยังเตือนเรื่องที่นอนด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงที่นอนประเภทที่อ้างว่าสามารถรองรับและปรับให้เข้ากับร่างกายของเรา เนื่องจากการนอนท่าเดิมบนที่นอนแบบนี้เป็นเวลายาวนานถึง 8 ชม.ต่อคืน ไม่ได้มีประโยชน์หรือช่วยปรับปรุงท่าทางการจัดตำแหน่งร่างกายของเราให้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : Engin Akyurt from Pixabay