เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลางดึกคืนที่ผ่านมา พ.อ.นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ ได้เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมกับมือถือของ แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ ที่นำมาจาก บังแจ็ค ซึ่งอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ DSI ไปรอรับตั้งแต่ลงเครื่อง ซึ่งทันทีที่ หมอธวัชชัย เดินทางมาถึง ก็ได้ส่งมอบมือถือของ แตงโม ที่ห่อด้วยพลาสติก 2 ชั้น ให้กับทางเจ้าหน้าที่หน่วยนิติเวชวิทยา (CSI) จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบ DNA อย่างละเอียด ทั้งถุงพลาสติกที่ห่อหุ้มมือถือ และตัวโทรศัพท์ รวมไปถึงเคสมือถือ หลังจากนั้นก็ได้ขอเก็บตัวอย่าง DNA ของหมอธวัชชัย ไว้ด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ทำการพิสูจน์หลักฐาน หมอธวัชชัย ได้วิดีโอคอลหา บังแจ็ค เพื่อสอบถามรหัสมือถือ แต่เจ้าตัวเผยว่าจะบอกต่อเมื่ออยู่ในที่ปลอดภัยเท่านั้น และยังเล่าให้ฟังอีกว่า มีคนเสนอเงินถึง 5 ล้าน เพื่อแลกกับมือถือเครื่องนี้ แต่ตนไม่ได้หวังเรื่องเงิน อยากให้ไขคดีเรื่องนี้มากกว่า อีกทั้งยังเตือนว่าห้ามเปิดรูปในเครื่องให้ใครเห็น เพราะมีภาพที่ไม่สมควรเผยแพร่

ด้าน หมอธวัชชัย เปิดเผยว่า ตนใช้เวลาเดินทางไป-กลับกว่า 75 ชั่วโมง ใช้เงินส่วนตัวล้วน ๆ โดยตนได้ดูทุกอย่างในเครื่องหมดแล้ว และใช้วิธีถ่ายคลิปเก็บไว้ เพื่อไม่สัมผัสกับตัวมือถือ เมื่อถามว่าในมือถือมีหลักฐานเด็ดที่จะมัดตัวใครได้บ้าง หมอธวัชชัย เผยว่าเรื่องเจ้าหน้าที่ และจำเลยทำลายหลักฐานโดนแน่ ๆ แต่เรื่องฆาตกรรม อาจจะไม่มีหลักฐานขนาดนั้น

หมอธวัชชัย กล่าวอีกว่า ให้รีบ ๆ สารภาพเถอะ จะได้จบ ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5 คนบนเรือ หรือข้าราชการ เพราะตนยืนยันได้ว่า ตั้งแต่สองทุ่มกว่า ไม่มีภาพของ แตงโม ในมือถือเลย เรื่องนี้คนบนเรือสามารถตอบได้ไหมว่าเป็นเพราะเหตุใด

ด้าน อ.ปานเทพ เปิดเผยสั้น ๆ ว่า ตนเชื่อมั่นในการทำงานของ DSI ชุดนี้ เพราะมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา สังเกตได้จากการที่เปิดพื้นที่ในการตรวจสอบ DNA ต่อหน้าสื่อมวลชน

ขณะที่ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมของการสืบสวนในคดีนี้ เปิดเผยว่า ทางทีมงานได้ไปรับมือถือตั้งแต่ลงเครื่อง และได้ตรวจว่ามี DNA ของผู้ใดก็ตามที่ติดอยู่กับตัวโทรศัพท์ เมื่อทราบผลแล้ว ทางพนักงานสืบสวนจะขยายผลเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องที่มี DNA ที่ตัวเครื่องโทรศัพท์ หรือว่ามีข้อมูลที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์มาพบ จากนี้จะเก็บมือถือไว้ที่ห้องความมั่นคงเก็บด้วยความลับขั้นสูงสุด โดยมีขบวนรถนำไปส่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และจะส่งไปที่นิติวิทยาศาสตร์ ไปเก็บหลักฐานทางแล็บต่อไป

โดยในวันที่ 10-17 กุมภาพันธ์ จะมีการเชิญบุคคลมาให้การ ส่วนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จะประสานความร่วมมือกับกรมเจ้าท่ากรมชลประทาน ในการเก็บรวบรวมหลักฐาน สแกนภาพจากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดในช่วงที่เรือวิ่ง และจะใช้ GPS ตามช่วงเวลาที่เกิดเหตุเก็บข้อมูลทั้งหมด โดยจะมีการสแกนใต้น้ำ และเก็บรวบรวมในสถานที่สงสัยอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้มีข้อสงสัยอยู่ 6 จุด จาก GPS ที่มีสิ่งผิดปกติ.